ลำพูนจัดกิจกรรม “ปลูกรักที่รถแก้ว” เพิ่มพื้นที่สีเขียว-ลดฝุ่น PM2.5 เติมเต็มปอดให้ชาวลำพูน

42

เทศบาลเมืองลำพูน ร่วมกับ แกล็กโซสมิทไคล์น  และ ลำพูน ซิตี้ แลป จัดกิจกรรม “ปลูกรักที่รถแก้ว” โดยการปลูกต้นไม้บนถนนรถแก้วย่านเมืองเก่าลำพูน เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว คืนปอดและส่งต่อความสุขให้แก่ชาวลำพูน พร้อมให้ความรู้และตรวจสมรรถภาพปอดให้แก่ประชาชนเพื่อคัดกรองผู้ป่วยทางเดินหายใจเชิงรุกในช่วงฝุ่น PM 2.5 ภายใต้โครงการต้นแบบ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” เพื่อพัฒนาพื้นที่แห่งความสุขกายสบายใจบนถนนรถแก้ว 

อนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายในภาคีเครือข่ายพัฒนาโครงการนี้ โดยในวันนี้ได้เริ่มการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมืองลำพูนบนพื้นที่ถนนรถแก้ว เส้นทางพระธาตุ – เชื่อม – พระรอด ที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่เกิดผลดีต่อผู้อยู่อาศัยในพื้นที่และดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมจัดกิจกรรมการ “ตรวจสมรรถภาพปอด” คัดกรองผู้ป่วยทางเดินหายใจเชิงรุกในช่วงฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพปอดที่ดี

โดยจังหวัดลำพูนได้มีมาตรการเพื่อลดและป้องกันปัญหา PM 2.5 ได้แก่ 1) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในพื้นที่ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน 2) มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) ในการควบคุมและลดมลพิษด้านการคมนาคมและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ด้านการก่อสร้าง ภาคครัวเรือน และ 3) มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ผ่านระบบบัญชาการเหตุการณ์ การสร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้กับประชาชน การควบคุมการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การบังคับใช้กฎหมาย และการใช้ทีมประชารัฐในการบูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดลำพูน

ประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีจังหวัดลำพูน กล่าวว่า เทศบาลเมืองลำพูนมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือการพัฒนาโครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) อย่างเต็มความสามารถ โดยในปี 2567 และ 2568 นี้ ถนนรถแก้วที่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบพื้นที่แห่งความสุขกายสบายใจ มีการปรับปรุงผิวถนนและการปรับปรับระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ สวยงาม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย และดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งการที่โครงการฯ เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นเพราะกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น โดยเทศบาลที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนโครงการทั้งงบประมาณและการปฏิบัติงาน ทั้งฝั่งกองช่างโยธาและกองแพทย์ และ อสม.ชุมชน

ส่วนภาคเอกชน คือ ลำพูน ซิตี้ แลป และ GSK รวมทั้งบริษัทอื่น ๆ ที่มาร่วมภาคีเครือข่าย เชื่อว่าโครงการฯ จะถูกต่อยอดขยายผลออกไปอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งโครงการด้านสุขภาพ การตรวจสมรรถนะปอดและคัดกรองผู้ป่วยทางเดินหายใจเชิงรุก โครงการด้านปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีบนถนนรถแก้วแห่งนี้ ทั้งนี้เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างความสุขกายสบายใจให้ประชาชน ส่วนสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่มีความแข็งแกร่งและให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี

มาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า GSK ในฐานะผู้นำด้านชีวเภสัช (Biopharma) ต้องการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการปกป้องและฟื้นฟูสุขภาพของโลก บริษัทฯ ตระหนักดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และชีวิตของผู้คนมากขึ้น เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ GSK ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความรักให้กับลำพูน โดยร่วมกับเทศบาลเมืองลำพูน และ ลำพูน ซิตี้ แลป จัดกิจกรรมรักษ์โลก “ปลูกรักที่รถแก้ว” ภายใต้โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) โดยเชิญชวนชาวลำพูนร่วมปลูกต้นไม้บนถนนรถแก้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดมลพิษทางอากาศและเติมเต็มปอดให้กับชาวลำพูน รวมทั้งการตรวจสมรรถภาพปอดให้แก่ประชาชนเพื่อคัดกรองผู้ป่วยทางเดินหายใจเชิงรุกในช่วงฝุ่น PM 2.5 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเมืองลำพูนและร่วมดูแลและปกป้องสุขภาพของชาวลำพูน

รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด กล่าวว่า โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) เป็นโครงการที่ทันสมัยในระดับโลก โดยมุ่งเน้นความยั่งยืนหรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับชุมชน และเดินหน้าในการสร้างสุขภาวะให้แก่ชุมชน ทั้งสุขภาวะทางกายและสุขภาวะทางใจ จากแนวคิด Restorative City “เมืองแห่งอนาคตไม่จำเป็นต้องอาศัยวิสัยทัศน์สุดโต่งหรือดูล้ำสมัย เพียงนำสุขภาพจิต ความเป็นอยู่ที่ดีและคุณภาพชีวิตมาเป็นปัจจัยแรกสุดของการวางผังและออกแบบเมือง” ซึ่งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การลงนามความร่วมมือโครงการฯ ในเดือนมิถุนายน 2566

โครงการฯ ได้ทำงานเชิงลึกร่วมกับนักออกแบบ ชุมชน และเทศบาลอย่างต่อเนื่อง โดยการออกแบบถนนรถแก้วโดย อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน์ ได้วางผังและโครงสร้างทางระบบนิเวศน์ของเมือง ในส่วนของการทำงานร่วมกับชุมชน ได้มีการประชุมระดมความเห็นและความต้องการของคนในพื้นที่จนสามารถตั้งเป็น “คณะกรรมการถนนรถแก้วสุขกายสบายใจ” ที่มีองค์ประกอบของภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ เพื่อร่วมดูแลสร้างโมเดลธุรกิจชุมชนต่อจากนี้ เพื่อให้ถนนรถแก้วเป็นพื้นที่ต้นแบบตามเป้าหมายของโครงการฯ ที่จะพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาสุขภาพ และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเทศบาลเมืองลำพูน รวมถึงกองช่างโยธาและกองแพทย์ ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งงานศิลปะชื่อ “พิมพ์” ที่เป็นศิลปะสาธารณะชิ้นแรกที่ติดตั้งบนถนนรถแก้ว โดยเตาชวนหลง เตาเซรามิคในลำพูน ร่วมกับทีมวิจัยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการจัดกิจกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น ลำพูนมิวสิคเฟสติวัล โดยวงดนตรีคนรุ่นใหม่ชาวลำพูน ทั้งหมดนี้ เพื่อ “ผนึกกำลัง” เป็นภาคีเครือข่ายสุขกายสบายใจ เพื่อเยียวยาเมืองและสิ่งแวดล้อมที่ดีของเมือง และย้อนกลับมาเยียวยาตัวเรา

ภายในงาน “ปลูกรักที่รถแก้ว” ยังได้จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนในหัวข้อ “ชาวหละปูนฮักปอด รู้เร็ว หายง่าย” โดย รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย หัวข้อ “การจัดการขยะเพื่อชุมชนของเรา” โดย นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ แอดมินเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” ดำเนินรายการโดย นายชนกนันทน์ นันตะวัน จากกลุ่มสม-ดุลเชียงใหม่ และหัวข้อ “ต้นไม้และระบบนิเวศน์เขตเมืองเก่า” โดย อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกป่าเหนือสตูดิโอ เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพปอดและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีความรู้ในการจัดการขยะในชุมชนอย่างถูกต้อง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความรู้ในการปลูกต้นไม้เพื่อระบบนิเวศน์ย่านเมืองเก่า

สำหรับโครงการต้นแบบ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองลำพูน บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด และบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ย่านใจกลางเมืองเก่าลำพูนให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขทั้งกายและใจ ผ่านการพัฒนาในหลายมิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาวะ มิติสิ่งแวดล้อม และมิติเศรษฐกิจ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่งคั่งบนวิถีพอเพียงอย่างยั่งยืน ต่อยอดการพัฒนาอัตลักษณ์วิถีบนฐานวัฒนธรรมภูมิปัญญาสร้างสรรค์ สู่อัตลักษณ์การท่องเที่ยว