แจกหนอนผีเสื้อแพนซี ฟรี! กับกิจกรรม “เปิดโลกให้ผีเสื้อ” ที่สถานีวิจัยลำตะคอง

35

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  โดย  ศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน สถานีวิจัยลำตะคอง  จัดกิจกรรมพิเศษสำหรับน้องๆ ในช่วงปิดเทอมที่ต้องการเลี้ยงหนอนผีเสื้อเพื่อศึกษา “วงจรชีวิตและการเจริญเติบโต” อย่างใกล้ชิด

โดยสามารถเข้ามารับ หนอน “ผีเสื้อแพนซีสีตาลไหม้” (จำกัดบ้านละ 10 ตัว)  ตั้งแต่บัดนี้ – 31 มีนาคม  2567  ณ  สถานีวิจัยลำตะคอง  อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เปิดให้บริการเยี่ยมชม (walk-in) ในวันอังคาร-อาทิตย์ หรือตามปฏิทินเปิด – ปิดเวลา09.00.-16.00 น.

 วิธีการมารับ หนอน “ผีเสื้อแพนซีสีตาลไหม้” ขอความร่วมมือน้องๆ และผู้ปกครอง ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

  1. เตรียมกล่องหรือภาชนะที่ระบายอากาศได้ดี และปิดล็อกอย่างแน่นหนา มารับหนอนกลับบ้าน
  2. เตรียมพืชอาหาร ได้แก่ ต้นต้อยติ่ง หรือต้นขาไก่ ไว้ที่บ้านในปริมาณมาก เพราะหนอนกินใบไม้เก่ง
  3. ยื่นตั๋วเข้าชม “ศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน” และแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “มารับหนอนกลับบ้าน” เพียงเท่านี้น้องๆ ก็จะได้หนอนผีเสื้อกลับไปเลี้ยงที่บ้าน

ทั้งนี้ผีเสื้อมีประโยชน์ในการเป็นผู้ช่วยผสมเกสรให้กับพืช ช่วยให้พืชประสบความสำเร็จในการสร้างเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งยังทำให้เกิดผลไม้ไว้สำหรับบริโภคด้วย  โดยวงจรชีวิตของผีเสื้อ มีดังนี้

1.ระยะไข่ ใช้เวลา 4-7 วันจะเริ่มฟักตัว

2.ระยะหนอน 12-40 วัน

3.ระยะดักแด้ 12-38 วัน

4.ระยะผีเสื้อ  เมื่อผีเสื้อฟักตัวออกจากดักแด้ ปีกของผีเสื้อจะชื้นแล้วยังยืดไม่เต็มที่ ช่วงเวลานี้ต้องปล่อยผีเสื้อผึ่งปีกให้แห้งเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เมื่อปีกและตัวผีเสื้อเสื้อแห้งสนิทแล้ว ผีเสื้อจะสามารถบินออกสู่โลกกว้างได้อย่างแข็งแรง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ facebook : Tropical insect sanctuary #Tropicalinsectsanctuary

อนึ่ง สถานีวิจัยลำตะคอง  เป็นหน่วยงานในสังกัด ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว.  มีภารกิจและเป้าหมาย มุ่งวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร  การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและสังคม   ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านงานวิจัย เพื่อนําไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน  สามารถติดต่อเพื่อศึกษาดูงาน  ได้ที่  โทร. 044  390  107, 098  193  4332 (คุณเบญจมาศ)  ติดต่อกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์   โทร. 081 467 4214  (คุณศักดิ์มงคล)   และติดต่อที่พัก  ห้องประชุม  โทร. 087  079 3330  (คุณอรุณวรรณ)