ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2567 จะมีมูลค่าราว 7.5 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 12.4% จากปี 2566 ด้วยแรงหนุนของการต่อยอดรูปแบบการเลี้ยงดูในมิติของ Pet Humanization เข้าสู่ Petriarchy และ Pet Celebrity ที่หนุนบทบาทให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จากเทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงของคนในยุคปัจจุบันมีรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ดูแลเดิมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง และ กลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงมือใหม่ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทาง ttb analytics ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยเจ้าของจะมีภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 41,100 บาทต่อตัวต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระที่จะมีค่าใช้จ่ายเพียงราว 7,745 บาทต่อตัวต่อปี
โดยมีค่าใช้จ่ายจากอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ค่าดูแล รวมถึงอาหารที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี เทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ในบางกลุ่มเจ้าของอาจมีวิวัฒนาการสู่การเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) ซึ่งบนบริบทการเลี้ยงดูที่ตามใจ โดยสัตว์เลี้ยงเป็นผู้รับที่ไม่สามารถปฏิเสธของที่เจ้าของเลือกซื้อให้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเจ้าของเลือกที่จะซื้อของให้สัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความพอใจส่วนตน ย่อมส่งผลให้การจับจ่ายในส่วนของอุปกรณ์ และค่าดูแล มีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง
อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสของ Pet Humanization และ Petriarchy แล้วในสังคมยุคปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจพัฒนาบทบาทจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่สามารถยกระดับจาก “สมาชิกในครอบครัวปกติ” เป็น “สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้” ผ่านรูปแบบลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนในสังคมวงกว้าง หรือ Pet Celebrity และถูกพัฒนาเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) เมื่อมีการนำเสนอนิสัยหรือลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงนั้นผ่านการเล่าเรื่องหรือการสร้าง Content โดยเจ้าของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการที่กลุ่มสัตว์เลี้ยงที่ถูกยกระดับเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) ที่สามารถสร้างรายได้ผ่าน Content ต่าง ๆ ที่เจ้าของได้สรรสร้างเพื่อนำเสนอให้กลุ่มผู้ติดตาม
ทำให้นอกจากรายจ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์และค่าดูแลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแล้ว ยังมีความถี่ในการจับจ่ายที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงในลักษณะเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) แบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งจากบริบทการเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ “การเลี้ยงแบบครอบครัว-ที่ตามใจ-และสร้างรายได้” ส่งผลให้มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยทาง ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยปี 2567 คาดมีมูลค่าแตะ 7.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 12.4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.5% โดยรูปแบบการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยแบ่งออกเป็นดังนี้
1. กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และ บริการรักษาสัตว์ เป็นกลุ่มที่ได้รับการเติบโตจากกระแสรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ที่มากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าของตระหนักถึงสัตว์เลี้ยงเป็นประหนึ่งเหมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้รูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น กลุ่มอาหารที่เริ่มมีการใช้อาหารเฉพาะเพิ่มมากขึ้นจากคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาในอนาคตที่การให้อาหารที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระยะยาว รวมถึงอาหารสัตว์ในปัจจุบันก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนมากกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในรูปแบบนี้มักใช้อาหารเกรดพรีเมี่ยมที่มีราคาสูง
เช่น อาหารเปียก รวมถึงในผู้เลี้ยงบางกลุ่มก็เลือกใช้อาหารดิบที่ไม่ผ่านความร้อน (BARF) ที่มีราคาสูง ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2567 ขยายตัวโดยมีมูลค่าแตะ 4.46 หมื่นล้านบาท บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.0% สอดคล้องกับบริการรักษาสัตว์ที่มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจากความตระหนักในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง และต้องรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงที่ประหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้มูลค่าบริการรักษาสัตว์เติบโตต่อเนื่องที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 21.7% ด้วยมูลค่า 6.64 พันล้านบาท ในปี 2567
2. กลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและบริการดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นกลุ่มที่นอกจากได้รับแรงหนุนของกระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแล้ว (Pet Humanization) มูลค่าของอุตสาหกรรมยังมีการเร่งตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากกระแสการเลี้ยงเสมือนคนในครอบครัวแบบตามใจ (Petriarchy) และ สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้ (Petfluencer) ที่ส่งผลให้มีความถี่ในการเข้ารับบริการดูแลและความถี่ในการจัดหาอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มในอัตราเร่ง ส่งผลให้มูลค่าตลาดอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีค่าการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.3% และ 16.7% โดยคาดว่ามีมูลค่า 2.29 หมื่นล้านบาท และ 0.66 พันล้านบาท ตามลำดับ บนแนวโน้มที่ยังรักษาการเติบโตในอัตราเร่งได้
กล่าวโดยสรุป กระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เป็นกระแสที่เพิ่มความนิยมส่งผลให้การดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้เจ้าของมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นทั้งในมิติของอาหารที่ต้องเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสุขภาพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริการดูแลย่อมสูงขึ้นในอัตราเร่ง เมื่อเจ้าของมีการเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) หรือเมื่อสัตว์เลี้ยงมีนิสัยเฉพาะตัวที่ยกระดับเป็น Pet Celebrity และมากกว่าไปนั้น
นอกจากมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยที่ขยายตัวจากเทรนด์การเลี้ยงที่เปลี่ยนไปดังกล่าว รูปแบบการเลี้ยงนี้ยังส่งผลทางอ้อมไปยังธุรกิจและบริการที่สามารถรองรับมูลค่าที่ขยายตัวนี้ได้ เช่น กลุ่มโรงแรมที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ธุรกิจรับฝึกสัตว์เลี้ยงให้กลายเป็น Petfluencer รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับบริการรักษาสัตว์ที่อาจมีการขยายขอบเขตบริการ Veterinary Telemedicine หรือ Virtual Vet ที่อาจเข้ามาตอบโจทย์กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เจ้าของอาจไม่สะดวกเดินทางพาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการรักษา เป็นต้น