ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ สะท้อนปัญหามะเร็งกับผู้หญิง

37

เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลในเดือนมีนาคมนี้ ทั่วโลกเฉลิมฉลองความสำเร็จและรำลึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิง และร่วมกันสร้างอนาคตที่ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม  โรช ไทยแลนด์ จัดงานเสวนาในหัวข้อ: “Lifting Women’s Voices to Inspire Inclusion: เพิ่มพลังเสียงของผู้หญิง สร้างแรงบันดาลใจในความหลากหลายโดยไม่แบ่งแยก” สนับสนุนให้ผู้หญิงหันมารักตัวเองมากขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

งานนี้ได้รับเกียรติจาก พญ.ราตรี เจะเอาะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม ประธาน Cancer Warrior มะเร็งปากมดลูกจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลปัตตานี เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้ผู้หญิงชาวมุสลิมได้เข้าถึงการคัดกรองและรักษา และร่วมเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงอีกหลายคนได้ตระหนักและเข้าถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง และ พญ.แทนชนก รัตนจารุศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งในผู้หญิงประจำสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่มาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโรคและให้คำแนะนำในการเข้าถึงการคัดกรองมะเร็งเต้านม เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงไทยรักตัวเอง และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพยิ่งขึ้น

ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของผู้หญิงยังคงอยู่ ระบบการรักษาพยาบาลอ้างอิงจากข้อมูลของผู้ชายเป็นหลัก เพียง 5% ของทรัพยากรด้านสุขภาพใช้สำหรับผู้หญิง  และผลจากการวิจัยในคนถึง 74% ไม่ได้ถูกรายงานตามเพศสภาพ  จากผลสำรวจด้านสุขภาพของผู้หญิง ในปี 2567  เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันผู้หญิงยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม และสังคม ทำให้ผู้หญิงไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพตัวเองเท่าที่ควร โดยมากกว่า 61% ของโรคในผู้หญิงมักถูกประเมินค่าต่ำในระบบการบริการดูแลสุขภาพ  และมากถึง 71% ของผู้ชาย ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของโรคในผู้หญิง

นอกจากนี้โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดกับผู้หญิง อาทิ โรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก กลับยังมีอัตราการรับรู้ที่ต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ผู้หญิงเกินกว่าครึ่งยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นของการตรวจคัดกรองโรค รวมถึงผู้หญิงยังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ภาระหน้าทีทางครอบครัว ความอับอายในการเข้าพบแพทย์ หรือแม้กระทั่งความเชื่อทางศาสนาที่มีผลต่อการเปิดใจรับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ เป็นต้น

ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า “โรช ให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้หญิงเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันยังมีความท้าทายในการเข้าถึงการตรวจและการรักษาในโรคสำคัญของผู้หญิงอยู่ โดยเฉพาะโรคมะเร็งอันดับต้นในผู้หญิง ทั้งมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2563  โรช ไทยแลนด์ ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างเครือข่ายและมีโครงการนำร่องให้แก่ประชาชน นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการดูแลสุขภาพของผู้หญิงไทย

หนึ่งในนั้นคือ โครงการมิชชัน ลีปฟรอก ที่มุ่งเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงการดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิงในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่เข้าถึงยากและเปราะบาง เช่น ชาวมุสลิมในจังหวัดปัตตานีด้วยการทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองได้ที่บ้านผ่านไปรษณีย์ เพื่อเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ให้ผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม”

 พญ. ราตรี เจะเอาะ หนึ่งในแพทย์ผู้ช่วยผลักดันและเป็นกระบอกเสียงในโครงการมิชชัน ลีปฟรอก เพื่อจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และให้ความรู้แก่ผู้หญิงในจังหวัดปัตตานี ฝากถึงผู้หญิงทุกคนว่า

“ผู้หญิง ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลก มีสัญชาตญาณปกป้องตัวเองและลูกน้อยของตน ผู้หญิงเราคือหลักยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนในครอบครัว การรักตัวเอง ดูแลสุขภาพของตนเอง เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ ศาสนาไม่ใช่ข้อจำกัดที่เราจะปฎิเสธการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ โรคร้ายในผู้หญิงอย่างมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงและไม่ควรถูกละเลย เราควรยึดร่างกายของตัวเองเป็นสำคัญ รักษาสิทธิ์ในร่างกายที่ทุกคนพึงมี และเปิดใจกับการเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน”

พญ. แทนชนก รัตนจารุศิริ กล่าวเสริมว่า “โรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก คือมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง โดยโรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด  แต่ความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมจะลดลงตามความเร็วในการค้นพบ ดังนั้นการใส่ใจตรวจหามะเร็งเต้านมเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญ หากตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และทำการรักษาอย่างถูกต้อง โรคมะเร็งเต้านมมีโอกาสสูงมากที่จะหายขาดได้ ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี สามารถตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และหลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี ควรทำแมมโมแกรม และ/หรือ อัลตราซาวน์ ปีละ 1-2 ครั้ง”

โรคมะเร็งหรือโรคในผู้หญิงมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ดังนั้นผู้หญิงส่วนใหญ่อาจละเลยในการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่งผลต่ออัตราการตรวจคัดกรองที่ต่ำอย่างน่าตกใจ โดยผู้หญิงเพียง 27% จะเข้าตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเมื่อมีอาการ และผู้หญิงเพียง 25% จะเข้าตรวจมะเร็งปากมดลูกเมื่อรู้สึกถึงความผิดปกติเท่านั้น ซึ่งเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวหมายความว่าผู้หญิงกว่าสองร้อยล้านคนทั่วโลกยังไม่เคยเข้าตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก และการยืดระยะเวลาการตรวจคัดกรองนั้นอาจทำให้โรคร้ายที่สามารถรักษาให้หายขาดได้กลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงไปอย่างน่าเสียดาย

“นอกจากกนี้ โรช ไม่เพียงแต่ส่งเสริมผู้หญิงทั่วโลกให้เข้าถึงการตรวจและการรักษาในโรคต่างๆ แล้ว เรายังส่งเสริมเรื่อง Diversity, Equity & Inclusion (DE&I) แก่พนักงานภายในองค์กรอีกด้วย และเรายังคงสนับสนุนให้ผู้หญิงในประเทศไทยมีความรู้ความเข้าใจในโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เพราะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกไม่เพียงแค่ส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วย แต่กระทบกระเทือนถึงครอบครัวและคนที่เรารักด้วย ดังนั้นเราจึงยืดหยันต่อความเสมอภาค และจะทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ที่มาพร้อมสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นของผู้หญิงไทยทุกคน” นายฟาริด บิดโกลิ กล่าวเสริม

สุดท้ายนี้โรช ไทยแลนด์ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้หญิงไทยให้มองเห็นคุณค่าของตัวเอง ตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ และช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเพื่อมาร่วมต่อสู้กับโรคมะเร็งไปพร้อม ๆ กัน