เปิด รพ. พญาไท ศรีราชา 2 เสริมแกร่ง Phyathai Sriracha Network มุ่งเป้าผู้ประกันตน 5 แสนคน

66

เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เดินหน้าขยายการให้บริการด้านการแพทย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดตัว  รพ.พญาไท ศรีราชา 2 ขานรับนโยบายรัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน เผยแผนเปิดตัว รพ.พญาไทบ่อวิน ปี 68 เสริมแกร่งเครือข่ายพญาไทศรีราชา รองรับสิทธิประกันสังคม 5 แสนคนภายใน 10 ปี พร้อมขยายกลุ่มต่างชาติ ตอกย้ำแนวหน้าด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล จัดงานเปิดตัว รพ.พญาไท ศรีราชา 2 จ.ชลบุรี โดยได้รับเกียรติจากนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธี
ธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
นายแพทย์ชาญชัย ลี้สมประสงค์ กล่าวรายงาน

โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา 2  เป็นโรงพยาบาลทั่วไป สามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้มากถึง 1,500 คนต่อวัน และผู้ป่วยในจำนวนรวมทั้งสิ้น 113 เตียง โดยโรงพยาบาลแห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ชลบุรีและใกล้เคียง โดยสืบเนื่องมาจากความสำเร็จของโรงพยาบาลพญาไทศรีราชาสาขาแรก ที่ให้บริการแก่ประชาชนมาเป็นเวลากว่า 28 ปี เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ในเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล กลุ่ม BDMS ให้บริการด้านการแพทย์เฉพาะทางในหลากหลายสาขา โดยเน้นการบริการที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ประกันตน จนเป็นที่ไว้วางใจและยอมรับในเขตอุตสาหกรรม EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นเขตพัฒนาพิเศษที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ

อัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เปิดเผยว่า  โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2538 และเริ่มเปิดให้บริการประกันสังคมครั้งแรกเมื่อปี 2542 โดยเน้นคุณภาพและมาตรฐาน ทำให้เพิ่มยอดผู้ประกันตนได้มากถึง 250,000 คน และได้รับรางวัลโรงพยาบาลประกันสังคมในดวงใจในปีที่ผ่านมา และในปีนี้ได้รับโควต้าเพิ่มอีก 115,000 คน เมื่อพิจารณาถึงความต้องการที่เพิ่มเติมของผู้รับบริการ จึงมีการขยายโรงพยาบาลขึ้น เพื่อรองรับผู้ทำงานและกลุ่มแรงงาน

โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา 2 ก่อสร้างด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลเดิม และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้ให้เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางการแพทย์ในอนาคต

โดยในปี 2568 เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ยังวางแผนลงทุนในการเปิดดำเนินการโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน จำนวน 225 เตียง เพื่อเป็นที่พึ่งพาทางด้านสุขภาพของชาวชลบุรีและบริเวณใกล้เคียงในอนาคต โดยจะใช้งบประมาณการลงทุนกว่า 1.8 พันล้านบาท

นายแพทย์ชาญชัย ลี้สมประสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา กล่าวว่า  โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา มุ่งมั่นที่จะเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในเขต EEC โดยมุ่งเน้นการให้บริการที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม มีระบบที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเครือข่ายที่เข้าถึงได้ง่ายทุกพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกที่เป็นเขตอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการดูแลประชากรอย่างทั่วถึง จึงมีการขยายบริการให้สามารถรองรับผู้ประกันตนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา 2 ได้เปิดขึ้นเพื่อรองรับผู้ประกันตนและผู้ป่วยทั่วไป สำหรับโรงพยาบาลพญาไทศรีราชาแห่งแรกจะพัฒนาเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์  โดยปรับปรุงพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับผู้ใช้บริการระดับพรีเมียมและผู้ประกันตนที่ต้องการการรักษาโรคเฉพาะทางหรือโรคซับซ้อน โดยได้เริ่มให้บริการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด การผ่าตัดหัวใจ และขยายศูนย์การผ่าตัดผ่านกล้องทุกระบบ นอกจากนี้ยังมีการขยายศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและเวชศาสตร์ชะลอวัย และอีกหลากหลายสาขา ที่มีแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ จำนวนกว่า 280 ท่าน

ในปีที่ผ่านมา ศูนย์ผู้มีบุตรยากของโรงพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพระดับโลก AACI จากประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับประกาศนียบัตรรับรอง Trauma 3 ในการบริหารจัดการฉุกเฉิน และกำลังดำเนินการขอรับรอง TEMSA ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ยึดหลักความปลอดภัยใน 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1. Patient Safety 2. Personnel Safety และ 3. Public Safety เพื่อพร้อมให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชาและเครือข่าย สามารถตอบโจทย์และเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ประสบสภาวะอุบัติเหตุฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และมีความเชื่อถือ

ปัจจุบันเครือข่ายโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา (Phyathai Sriracha Network) มีโรงพยาบาลในความดูแล 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา โรงพยาบาลพญาไทบางพระ และล่าสุดโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา 2  นอกจากนี้ยังมีคลินิกเครือข่ายอีก 2 แห่ง คือ คลินิกเวชกรรมพญาไทบ่อวิน และคลินิกเวชกรรมพญาไทสะพาน 4 และในปี 2568 มีแผนการเปิดตัวโรงพยาบาลพญาไทบ่อวิน  ด้วยศักยภาพทั้งหมดคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยนอก (OPD) ได้วันละ 7,000 คน โดยตั้งเป้ารองรับสิทธิประกันสังคมได้ถึง 5 แสนคนได้ภายใน 10 ปี สอดคล้องกับจำนวนแรงงานในพื้นที่อีอีซีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการขายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

สำหรับแผนการบุกตลาดชาวต่างชาติ ปัจจุบัน โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา มีสัดส่วนชาวต่างชาติ 3% คิดเป็นรายได้ 5% โดยมีเป้าหมายในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ในการเพิ่มสัดส่วนชาวต่างชาติเป็น 10% ผ่านกลยุทธ์ 3 ประการ คือ 1.การเพิ่มประเทศเป้าหมาย ซึ่งเดิมทีเจาะกลุ่มชาวจีนเป็นหลัก โดยจะทำการขยายตลาดไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี กลุ่มประเทศ CLMV กลุ่ม อาหรับ ฯลฯ 2.เพิ่มการสื่อสารเกี่ยวกับบริการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลให้มากขึ้น และ 3.การเพิ่มเอเจนซี่ด้านสุขภาพในแต่ละประเทศ นอกจากนั้นยังมีแผนการจัดตั้งศูนย์บริการสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ เพื่อดูแลและให้บริการผู้ป่วยและผู้เข้าใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า BDMS มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรม Healthcare ของไทยสามารถดำเนินแนวทางความยั่งยืนตามมาตรฐานโลก โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศ โดยในปัจจุบัน BDMS มีโรงพยาบาลในเครือมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และล่าสุดได้ขยายเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา 2 ของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล บนเขตพื้นที่ศรีราชา เพื่อตอบสนองประชาชนและรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะในแง่ของการรับมือกับความต้องการด้านการแพทย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การขยายธุรกิจในพื้นที่ EEC ไม่เพียงแต่เป็นการตอบสนองต่อความต้องการในตลาดและความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรในการเป็นผู้นำด้านบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการขยายธุรกิจของกลุ่มโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่มีอยู่ในระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน