เมื่อเทคโนโลยี Generative AI (GEN-AI) หรือปัญญาประดิษฐ์หรือ AI Chat Bot ช่วยให้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างรวดเร็ว กำลังเข้ามามีบทบาทในทุกสาขาอาชีพ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จึงได้ผนวกการใช้งาน GEN-AI ในทุกหลักสูตรการเรียนการสอนและทุกระดับชั้นการศึกษา เพื่อช่วยเสริมทักษะนักศึกษาให้เป็น Soft Skill และเพื่อรองรับการใช้ AI เป็น Norm ในอนาคต
ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า Generative AI (GEN-AI) เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ได้อย่างอัตโนมัติหลากหลายรูปแบบ โดยเรียนรู้จากฐานข้อมูลที่มีอยู่มาประมวลสร้างผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็วขึ้น สามารถใช้งานได้หลากหลาย อาทิ Digital Marketing การแต่งเพลง การสร้างสรรค์ออกแบบสื่อ นอกจากนี้ Gen-AI ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเนื้อหาการสอนบทเรียน การค้นคว้าข้อมูล การเขียน หรือการทำวิจัย อย่างไรก็ตาม Gen-AI ก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ข้อมูลที่ได้ไม่ถูกต้องหรือมีคุณภาพต่ำ รวมถึงการสร้างข้อความที่ไม่สละสลวยหรือแปลภาษาได้ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวว่า เทคโนโลยี Gen-AI เปรียบเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้ใช้งานควรใช้อย่างระมัดระวังและปรับเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการ การนำ Gen-AI มาช่วยสร้างเนื้อหาได้หลากหลายรูปแบบ เช่น สร้างข้อความ รูปภาพ เพลง และวิดีโอ เป็นต้น ส่วนโมเดล Gen-AI ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ Chat GPT, Gemini, Claude, Perplexity, Copilot โดยแต่ละโมเดลมีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น “Chat GPT” คือ โมเดลภาษาขนาดใหญ่ ที่พัฒนาโดย Open AI ทำหน้าที่สร้างข้อความโต้ตอบกับผู้ใช้งานในรูปแบบการสนทนา โดยจะจำคำสั่งเก่าและสามารถป้อนคำถามต่อเนื่องได้ ส่วนข้อจำกัด คือ เวอร์ชันฟรี ซึ่งข้อมูลจะล้าหลังถึงแค่ปี 2022 ส่วนเวอร์ชันที่มีค่าใช้จ่ายจะใช้งานโมเดล GPT-4 และ GPT Plus นั้นข้อมูลจะอัพเดตมากกว่าและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ส่วน “Gemini” ซึ่งเป็นโมเดลการประมวลผลภาษาจากแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่พัฒนาโดย Google จะเชี่ยวชาญในการสร้างข้อความ แปลภาษา เขียนเนื้อหาสร้างสรรค์ ตอบคำถาม และสรุปข้อมูล เข้าถึงได้ผ่าน Google Search มีข้อดี คือ ใช้งานง่าย และข้อมูลอัพเดตใหม่กว่าโมเดลอื่น ส่วนข้อจำกัด คือ อาจสร้างข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะเรียนรู้ข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ Google นั่นเอง
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวต่อว่า สำหรับ “Claude AI” เป็นโมเดลภาษา ที่พัฒนาโดย Google Research ร่วมกับ Anthropic มีความเชี่ยวชาญด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ เรียนรู้คำสั่งและรองรับการใช้งานภาษาไทยได้ค่อนข้างดีมาก มาแรงสำหรับคนไทย ส่วน “Perplexity” ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัท Perplexity AI ก่อตั้งโดย Aravind Srinivas อดีตวิศวกรของ Google และ Open AI ได้รับทุนสนับสนุนจาก CEO Amazon จุดเด่นคือ ให้คำตอบโดยตรงกับสิ่งที่ค้นหา แสดงลิงก์และเว็บไซต์อ้างอิงที่มาของแหล่งข้อมูล เหมาะกับนักศึกษาที่ทำวิจัย แต่อาจมีข้อจำกัดด้านข้อมูลที่อาจไม่ถูกต้องได้บ้าง เนื่องจากเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาลจากระบบค้นหา
ส่วน “Copilot” ถูกพัฒนาโดย ทีมวิศวกรของ Microsoft เหมาะสำหรับผู้ใช้ Microsoft 365 ได้แก่ MS Word หรือ MS Excel ที่ต้องการใช้งานแบบหลากหลาย อาทิ ช่วยร่างหรือเขียนเอกสาร แปลภาษา รวมถึงงานวิเคราะห์ข้อมูล งานวิจัย รวมทั้งมีฟีเจอร์ช่วยวาดรูปแต่ยังอยู่ในช่วงพัฒนาฟังก์ชัน แต่อาจมีข้อจำกัดหากใช้งานเวอร์ชันฟรี ซึ่งจะไม่สามารถใช้งานร่วมกับ MS Word หรือ MS Excel ได้ หรืออาจใช้งานไม่ได้บางช่วงเวลา ดังนั้นควรศึกษาโมเดลทั้งหมดก่อนนำไปใช้ให้เหมาะสมกับงานในแต่ละประเภท
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวเสริมว่า เทรนด์การใช้งาน Gen-AI กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากเด็กยุคใหม่ เนื่องจากสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มสิทธิภาพในการศึกษาได้เป็นอย่างดี แม้ผู้ใช้บางส่วนอาจยังไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้งานระบบ AI ในเวอร์ชันที่ดีกว่า แต่ก็สามารถเรียนรู้และใช้งานเวอร์ชันฟรีได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำมาช่วยในการค้นคว้าสรุปงานและทำรายงานต่างๆ ได้ แต่อาจจะมีข้อจำกัดในแง่ความถูกต้อง ความทันสมัยของข้อมูล จึงต้องตรวจสอบอยู่เสมอ
สำหรับความชำนาญในการใช้เครื่องมือ AI นั้น ขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้งาน หากใช้บ่อยครั้งก็จะยิ่งมีทักษะในการใช้งานที่คล่องแคล่วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงานได้ ส่งผลให้มีเวลามากขึ้นในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่หรือหาไอเดียต่อยอดงานมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ AI จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการช่วยประมวลผลและสรุปข้อมูล แต่ข้อมูลที่ได้มามีข้อจำกัดอาจมีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องได้ ดังนั้นในการใช้งานจริงจำเป็นต้องใช้ Gen-AI มากกว่า 1 โมเดล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและลดโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้น
“ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีนับจากนี้ ทักษะในการใช้ Gen-AI รวมทั้งการใช้เครื่องมือ AI อื่น ๆ อย่าง Midjourney หรือ Dall-E ในการทำงานด้านกราฟิกส์ จะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนยุคใหม่ หากไม่มีความสามารถดังกล่าวอาจจะเสียเปรียบได้ ดังนั้น CITE DPU จึงได้ผนวกความรู้การใช้งาน AI ที่ผ่านคำสั่ง Prompt และกระบวนการใช้งานต่าง ๆ เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับและทุกสาขาวิชา เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษาใช้เป็นทักษะเสริม
นอกจากนี้ยังจัดอบรมการใช้งานเครื่องมือ AI อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นักศึกษาได้อัพเดตความรู้และเทคนิคการใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันนักศึกษาของ CITE DPU หลาย ๆ คนสามารถใช้ Gen-AI ได้อย่างดีแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจต้องการมุ่งเน้นเป็นนักพัฒนา AI โดยตรง หรือสร้างการประยุกต์ใช้งานที่ซับซ้อนขึ้น สามารถเลือกเรียนในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งระดับปริญญาตรี-โท-เอก ที่มีหลักสูตรด้าน AI รองรับโดยตรง” ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวทิ้งท้าย