ผลวิจัยอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทยปี 2576 ชี้ภาพสะท้อนที่ต้องเตรียมรับมือ

80

NIA ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต ETDA และ FutureTales LAB by MQDC เปิดผลการวิจัย “อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Health and Wellness in Thailand 2033)” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะในประเด็นปัญหาสำคัญ สัญญาณการเปลี่ยนแปลงภาพอนาคตและข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพและสุขภาวะของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพและสุขภาวะ ส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “สุขภาพและสุขภาวะเป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ NIA ในฐานะ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” จึงให้การส่งเสริมนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการคาดการณ์ภาพอนาคตของสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย โดยล่าสุดได้ร่วมกับพันธมิตรคาดการณ์อนาคตเพื่อสะท้อนประเด็นการขับเคลื่อนที่สร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อระบบสุขภาพและสุขภาวะในสังคมไทย ใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.การสร้างการตื่นรู้ด้านสุขภาพให้กับสังคมไทย

2.การพัฒนาระบบสาธารณสุขเชิงรุกอย่างเข้มแข็ง

3.การเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติการณ์สาธารณสุข

4.การลงทุนในความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพ

5.การส่งเสริมให้เกิดการออกแบบพื้นที่เพื่อสุขภาพและสุขภาวะ

6.การส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะรายบุคคล

โดยนวัตกรรมจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างมาก และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับระบบสุขภาพและสุขภาวะของสังคมไทยให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

ซึ่งงานวิจัยที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นชุดข้อมูลและองค์ความรู้สำคัญสำหรับกำหนดแนวทางเพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและสุขภาวะได้เป็นอย่างดี และช่วยสะท้อนภาพอนาคตของการพัฒนาระบบสุขภาพของสังคมไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตและความเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากหลากหลายปัจจัย โดยข้อมูลจากคลังข้อมูลทางการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข รายงานถึงความเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวชว่ามีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2558 ที่มีจำนวน 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 2.4 ล้านคนในปี 2565

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนไทยมีสุขภาวะทางกายและใจที่สมบูรณ์ นั่นหมายถึงจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือมีอาการเจ็บป่วยต้องลดลง ในขณะที่ผู้ที่เจ็บป่วยก็สามารถรู้เท่าทันสัญญาณเตือนต่างๆ ด้วยตนเองและเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่นโยบายที่จะทำให้การดูแลสมบูรณ์ทั้งกายและใจแบบองค์รวมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้มุ่งเน้นที่การส่งเสริมและการดูแลตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพกายและใจตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัวก่อนจะนำไปสู่สังคมและชุมชน”

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า “การทำให้ประเทศเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการทำธุรกรรมทางออนไลน์รวมถึงชีวิตดิจิทัลผ่านการจัดทำฉากทัศน์ภาพอนาคต (Foresight) เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ ETDA

โดยศูนย์คาดการณ์อนาคต (ETDA Foresight Center) ได้ดำเนินงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐ เอกชน มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศได้เห็นถึงภาพความเปลี่ยนแปลงและนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ – นโยบายการขับเคลื่อนประเทศในด้านที่เกี่ยวข้อง โดยพบ 2 ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

1.Turning Data Privacy Principles into Action การส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลจะเป็นไปโดยไร้รอยต่อ สถานพยาบาลสามารถเชื่อมต่อและส่งต่อข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

2.Seamless Integration of AI บูรณาการประยุกต์ใช้ AI ทางการแพทย์จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่ถูกพัฒนาจนเกิดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง ดังนั้น จึงต้องเร่งผลักดันการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลภายใต้แนวปฏิบัติในการใช้งานที่เหมาะสมกับระบบสาธารณสุขของประเทศ

รวมถึงการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม เกิดการสร้างมาตรฐานของข้อมูลด้านสุขภาพที่มีการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่เข้ามาช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความลอดภัยของบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต”

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales LAB by MQDC) กล่าวว่า “คณะผู้วิจัยได้บูรณาการแนวคิดนิเวศวิทยา พฤติกรรมทางสุขภาพ และแนวคิดเชิงระบบนิเวศด้านสุขภาพและสุขภาวะ เพื่อสร้างกรอบแนวคิดการวิจัยในการกำหนดแนวทางการศึกษาและพัฒนาภาพอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้น 5 รูปแบบ ได้แก่

1.สิ้นแสงสาธารณสุข (Dusk of Healthcare) ระบบสุขภาพเปราะบางย่ำแย่ ขาดแคลนทรัพยากร ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้ เกิดช่องว่างของความต้องการดูแลสุขภาพขนาดใหญ่

2.ระบบสุขภาพทั่วหล้า (Public Health Meridian) ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติและภัยคุกคามด้านสาธารณสุข รวมถึงส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาค

3.ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง (MedTech Twilight) ที่จะช่วยยกระดับการบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความจำเพาะต่อผู้รับบริการแต่ละบุคคล แต่ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ความปลอดภัยของข้อมูลและจริยธรรมจะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญ

4.รุ่งอรุณสุขภาวะ (Dawn of Wellness) ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบพัฒนาเมืองเพื่อให้เกิดเมืองแห่งสุขภาวะ และสร้างโอกาสการเติบโตของผลิตภัณฑ์และบริการ

5.สุขภาพสุขสมบูรณ์ (Zenith of Self-Care)  เกิดการกระจายศูนย์กลางระบบสุขภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถานบริการสุขภาพและสุขภาวะที่ขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เน้นบริการที่สะดวกสบาย ยืดหยุ่น และตอบสนองความต้องการแต่ละบุคคล

จากการวิเคราะห์ภาพอนาคตทั้งหมด ศูนย์ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บและพันธมิตรตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพอนาคตที่เลวร้ายเกิดขึ้น โดยจะส่งเสริมการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาวะที่ดีต่อทุกสิ่งมีชีวิต

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดงานวิจัยได้ที่ https://www.nia.or.th/bookshelf/view/253