อาการปวดท้องแบบไหน เป็นสัญญาณเตือน … โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

29

เวลารู้สึกปวดท้อง คนเรามักรักษาเนื้อรักษาตัว ทานยาตามอาการ แล้วปล่อยให้อาการค่อย ๆ ทุเลาลงไป แต่ถ้าเกิดการปวดท้องรอบนี้มันกินเวลานานกว่าที่เคยล่ะ แบบนี้จะถือว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนอะไรมารึเปล่า? เพราะอาการปวดท้องเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นแบบท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียที่รักษาไม่หายขาด ล้วนแล้วแต่หนึ่งในอาการสำคัญที่นำไปสู่ ‘โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่’ กันทั้งคู่

ถึงตรงนี้เราไม่ได้จะบอกว่าปวดท้องแล้วต้องเป็นโรคร้ายเสมอไป แต่เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่คือสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ที่สูงถึงลำดับที่ 4 จึงจะเป็นการดีกว่าไหม … ถ้าเราจะเสียเวลาเล็กน้อย เพื่อเช็กให้แน่ใจจริง ๆ ว่าปวดท้องรอบนี้ ไม่ได้รุนแรงจนน่ากังวล

ต้องเกริ่นก่อนว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) มีส่วนคล้ายกับโรคมะเร็งอื่น ตรงที่ไม่สามารถบอกสาเหตุได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร โดยผลการศึกษาในเบื้องต้น ระบุได้เพียงว่าผู้ที่มีพันธุกรรม, มีความสัมพันธ์ หรือใกล้ชิดกับคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะจากการดูแลสุขภาพ อาหาร การออกกำลังกาย

นอกจากอาการปวดท้องเป็นเวลานานแล้ว โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังมีสัญญาณเตือนอื่นอยู่อีกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง เช่นอาการที่ท้อง แน่นท้อง ท้องอืดเป็นประจำ หรือมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย (คล้ายกับโรคลำไส้แปรปรวน) หรืออาการที่สังเกตได้จากอุจจาระ เช่นอุจจาระเป็นเลือด มีเลือดออกบริเวณทวารหนัก หรือมีปริมาณและความถี่การถ่ายอุจจาระที่ผิดไปจากเดิม รวมถึงอาการผิดปกติของร่างกาย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือคลำเจอก้อนที่บริเวณช่องท้องด้านขวา

ข้อมูลจาก นายแพทย์ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ระบุไว้ว่า โดยหลักแล้วโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งการก้อนหรือติ่งเนื้อบริเวณช่องท้องด้านขวาหรือที่เยื่อบุลำไส้ใหญ่ คือสัญญาณของระยะที่ 1

จากนั้นในระยะที่ 2 ก้อนเนื้องอกเหล่านี้ จะค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งและแพร่กระจายไปสู่ผนังลำไส้ จนทำให้ลำไส้ใหญ่มีการทำงานที่ผิดปกติ หรือสูญเสียการทำงานในการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุ จนส่งผลต่อลักษณะของอุจจาระและการขับถ่าย ก่อนที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไประยะที่ 3 ที่จะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง “ในระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตภายใน 5 ปี ของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ในระยะสุดท้าย ลดเหลือเพียง 13% เท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม หากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังอยู่ในระยะแรก ๆ หรือยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ ก็เท่ากับว่าเรายังมีโอกาสกำจัดเนื้อร้ายนี้ให้หายขาดได้ โดยแพทย์จะใช้ 3 วิธีหลักในการรักษา ซึ่งประกอบด้วย การผ่าตัดกำจัดเนื้อเยื่อมะเร็งเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง / คีโม หรือการรักษาโดยยาเคมีบำบัด เพื่อให้ยาเข้าไปหยุดหรือชะลอการเติบโต ไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย / การฉายแสง หรือรักษาโดยใช้รังสีฉายจากภายนอกร่างกายเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งภายใน

ซึ่ง นายแพทย์ระพีพันธุ์ เสริมว่า วิธีการในการรักษามะเร็งจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ประกอบกับการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น การใช้นิ้วคลำตรวจทางทวารหนัก, การตรวจเลือดและตรวจหาสารบ่งชี้โรคมะเร็ง, การตรวจอุจจาระเพื่อหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test), การตรวจเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Tomography Colonoscopy), การตรวจลำไส้ด้วยการส่องกล้อง (Colonoscopy) หรือหากพบชิ้นเนื้อภายในบริเวณลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการส่องกล้องเพื่อตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อตรวจวินิจฉัยคัดกรองเซลล์มะเร็งเพิ่มเติม

นายแพทย์ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย

“ทั้งนี้แม้จะยังไม่มีอาการใด ๆ แต่การตรวจเช็กมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็จำเป็นต้องทำอย่างถี่ถ้วนแม้อายุยังน้อย ด้วยการหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำทุกปี หรือง่ายกว่านั้นคือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและควรดูแลสุขภาพเพื่อเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด”

หลีกเลี่ยง – การรับประทานอาหารเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารปิ้งย่าง อาหารไขมันสูง อาหารที่มีกากใยต่ำ งดการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ และควรรับประทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีเส้นใย และควรออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ