“โกลัค” เร่งแก้ Pain Point แบรนด์ SUBWAY เกาะฐาน PTG ขึ้นเบอร์ 3 QSR

25

SUBWAY (ซับเวย์) เป็นแบรนด์ร้านอาหารบริการด่วนจากอเมริกา เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1965 จากธุรกิจเล็ก ๆ ที่เจ้าของลงมือทำอาหารเอง ก้าวสู่แบรนด์ยักษ์ระดับโลก โดยเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยเมื่อปี 2003

สินค้าหลักของ SUBWAY คือ แซนด์วิชสด แรป สลัด ซึ่งเป็นเมนูที่กินง่าย ไว สะดวก เหมาะกับมื้อเร่งด่วน จึงจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารบริการด่วน Quick Service Restaurant  (QSR) ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดในประเทศไทยกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

ที่ผ่านมา SUBWAY อาจถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงได้ไม่ง่าย เนื่องจากวิธีการเลือก การสั่ง ค่อนข้างซับซ้อน เพราะคนไทยโดยทั่วไปคุ้นเคยกับการกินแซนด์วิชแบบที่เชฟเลือกสรรมาให้แล้ว แต่แบรนด์ SUBWAY มีตัวเลือกที่หลากหลาย ตั้งแต่ขนมปัง 5 ชนิด ซอสอีก 12 แบบ ผักและเนื้อสัตว์อีกหลายรายการ ทำให้เกิดช่องว่างสำหรับผู้บริโภคชาวไทย

ปัจจุบัน SUBWAY 148 สาขาในเมืองไทย จึงปักหลักอยู่ในกรุงเทพฯ มีสาขาในต่างจังหวัดเพียง 21 สาขา ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือสนามบิน ซึ่งมีลูกค้าชาวต่างชาติที่รู้จัก SUBWAY เป็นอย่างดี เนื่องจากมีสาขากว่า 39,000 แห่งทั่วโลก

ล่าสุดถือเป็นก้าวสำคัญของ SUBWAY เมื่อ “โกลัค” ซื้อสิทธิ์ “มาสเตอร์ แฟรนไชส์ ซับเวย์” ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว

บริษัท โกลัค จำกัด เป็นบริษัทย่อยในเครือ PTG หรือบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) มีบทบาทในการผลักดันธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) ของ PTG  แบรนด์หลักที่รู้จักกันดีคือ ร้านกาแฟพันธุ์ไทย

การเป็นมาสเตอร์ แฟรนไชส์  “โกลัค” จะได้รับสิทธิ์ในการบริหารแบรนด์ SUBWAY ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 โดยมีบริษัทย่อย “โกซับเวย์” ทำหน้าที่ในการขยายสาขา และจ่ายค่าแฟรนไชส์ให้กับทาง “โกลัค”

โดย “โกซับเวย์” จะมุ่งขยายสาขา SUBWAY เพียงแบรนด์เดียว ขณะที่ “โกลัค” ยังสามารถเดินหน้าทำตลาดแบรนด์อื่น ๆ ในความดูแลเพื่อบุกธุรกิจ Non-Oil ให้กับทาง PTG ต่อไป

กลยุทธ์ที่สำคัญของ SUBWAY หลังจากนี้ไป คือการใช้รากฐานอันแข็งแกร่งของทาง PTG บวกกับการแก้ Pain Point ที่เคยเกิดขึ้นกับ SUBWAY ในประเทศไทย

ปั๊มน้ำมันพีทีที่มีอยู่กว่า 2,300 แห่ง อาจจะไม่ใช่ช่องทางทั้งหมดในการขยายสาขาของ SUBWAY แต่ฐานสมาชิกบัตร PT Max Card มากกว่า 21 ล้านคน คือเป้าหมายหลักในการเร่งการเติบโตแบรนด์ SUBWAY ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด “Eat Fresh, Feel Good”

ที่ผ่านมาเมนูของ SUBWAY อาจจะไม่หลากหลายเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ในตลาด QSR จากนี้ไปจึงมีแผนการขยายไลน์สินค้าในกลุ่ม Snack และ Finger Food ขณะเดียวกันก็ทำการปรับเมนูให้เข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น

ด้านช่องทางการจำหน่าย จะมุ่งขยายช่องทางใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง อาทิ  “ไดรฟ์ทรู” โดยจะเปิดสาขาแรกในประเทศไทย ภายในสถานีบริการน้ำมันเรือธงของ PT ที่นครชัยศรี

นอกจากนั้นยังมีช่องทาง Digital Platform รวมทั้งการขยายสาขาในหัวเมืองใหญ่ที่มีมหาวิทยาลัย สนามบิน รวมทั้งโรงพยาบาล ซึ่งจะเริ่มสาขาแรกในเดือนมิถุนายนนี้

เป้าหมายในการขยายสาขา SUBWAY คือ 500 สาขาภายใน 10 ปี หรือ 50 สาขาต่อปี โดยตั้งเป้าขึ้นสู่ Top 3 ในตลาด QSR ของประเทศไทยภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 5-6 ของตลาด โดยคาดว่าแต่ละสาขาจะสร้างรายได้มากกว่า 10 ล้านบาทต่อสาขา


“พิทักษ์ รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า  ธุรกิจ F&B เป็น 1 ใน 8 ธุรกิจหลักที่ PTG ตั้งเป้าที่จะเข้าลงทุนตามแผน Diversify Portfolio เพื่อขยายกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ให้เติบโตมากขึ้น

ซึ่งในอนาคตบริษัท โกลัค จำกัด จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของบริษัทฯ รวมถึงต่อยอดและขยายธุรกิจกลุ่ม F&B ของ PTG ที่มีอยู่เดิมให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเสริม Max World ให้แข็งแกร่งมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกคนให้ได้มีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ “อยู่ดี มีสุข” ในทุกด้านของช่วงชีวิต

“เพชรัตน์ อุทัยสาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด เปิดเผยว่า เรายังคงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ เป็นทางเลือกที่ดีกว่า สำหรับคนรักสุขภาพในธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (QSR)  และคงไว้ซึ่งแบรนด์ที่อยู่ในใจของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างลงตัว

โดย SUBWAY มีจุดยืนในเรื่องของการเป็น Healthy Choice ให้ลูกค้าได้ทานอาหารที่อร่อย เสิร์ฟ สด ใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Eat Fresh, Feel Good” ซึ่งร้านซับเวย์เป็น QSR เดียว ที่อบขนมปัง สด ใหม่ ในร้านทุกวัน

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารของ “โกลัค” สาขาที่เปิดใหม่จะถูกตกแต่งด้วยแนวคิดการออกแบบ “Fresh Forward 2.0” ของซับเวย์ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ตกแต่งด้วยแนวคิดดังกล่าว