TCELS เสริมแกร่งอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ตอบรับเมกะเทรนด์โลก ผนึก สวทช. และ วว. จัดกิจกรรม CIB2024 โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรม เครื่องสำอางสมุนไพร เวชสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการอย่างครบวงจร เชื่อมมิติด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด หนุนทักษะและองค์ความรู้สู่ความสำเร็จเปิดเวที Pitching พร้อมโอกาสแสดงงานจริงในต่างประเทศ รับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 25 พ.ค.2567
ไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เปิดเผยว่า TCELS ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องสำอางจากสมุนไพร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ภายใต้“โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประจำปี 2567” (Cosmeceutical and Herbal Innovation with Business Link: CIB2024)
โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องสำอางจากสมุนไพร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ภายใต้การกำกับดูแลของ TCELS ให้มีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาด และความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาสินค้าและบริการ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภาครัฐ หรือผู้ประกอบการไทยกับนานาชาติ และสร้างโอกาสในการขยายตลาดในระดับสากล รวมถึงเกิดการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างประเทศ
“ตลาดสุขภาพและความงามในประเทศไทยเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญ ทั้งด้านมูลค่าตลาดที่สูงและด้านการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โครงการ CIB2024 สามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ต่อยอดความสำเร็จของผลงานวิจัยและพัฒนาของคนไทย สนับสนุนการเติบโตของสมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพรที่สามารถปลูกได้ในประเทศ นำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ หนุนความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ใหญ่ของโลกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” นางสาวไปยดา กล่าว
ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง TCELS ให้ข้อมูลว่า “กิจกรรมในโครงการ CIB2024 ประกอบด้วย งานสัมมนาการเตรียมข้อมูลผลิตภัณฑ์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังประเทศยุโรป โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐาน COSMOS (Cosmetic Organic and Natural Standard) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ทำธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ” เพื่อวิเคราะห์ช่องว่างทางธุรกิจ เทคนิคการปิดช่องว่าง และเพิ่มผลผลิตของธุรกิจ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เจรจาธุรกิจอย่างไรให้ได้งาน” เพื่อเสริมสร้างทักษะการเจรจาธุรกิจ เรียนรู้กระบวนการเจรจาต่อรอง และวิธีนำเสนอสินค้าและบริการ
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมพบที่ปรึกษา (เเบบ One on One) เพื่อทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและวินิจฉัยปัญหาทางธุรกิจ การเงิน การวางกลยุทธ์ การตลาด การบริหารองค์กร และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกิจกรรม Pitching เพื่อนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจทั่วไป”
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ประกอบการไทย SMEs ตามนิยามของ สสว. ในกลุ่ม เวชสำอาง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ที่มีส่วนประกอบหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ หรือมีส่วนประกอบสำคัญของสารสกัดจากพืชหรือสมุนไพรที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นและผ่านการรับรองมาตรฐาน โดยเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี และมีการส่งงบการเงินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และขอสงวนสิทธิสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการ CIB เท่านั้น
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ CIB2024 จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การพบที่ปรึกษาทางธุรกิจ ด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศ แบบ One on One โอกาสในการนำเสนอผลงานกับนักลงทุนชั้นนำ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับคะแนน Pitching สูงสุด 3 รางวัล จะได้รับการสนับสนุนพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศจาก TCELS อีกด้วย
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม “โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประจำปี 2567” สามารถลงทะเบียนได้ตั้งเเต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0 2644 5499 ต่อ 217 E-mail: jiraphan@tcels.or.th
TCELS มุ่งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสิ่งแวดล้อม “TCELS MAKE EVERY LIFE BETTER” ศึกษารายละเอียดและบริการของ TCELS ได้ที่ www.tcels.or.th Facebook: TCELS THAILAND