กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เชิญร่วมงานเสวนา

55

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอเชิญร่วมงานสรุปผลการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการรับมือและเฝ้าระวังภัยจากสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พร้อมนำเสนอร่างมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม

ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, คณะกรรมการอาหารและยา และผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เป้าหมายการดำเนินงาน คือ ผลักดันและส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เราจึงได้สนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในการศึกษาวิจัย สร้างกลไก และจัดกิจกรรมในการส่งเสริมทักษะดังกล่าวผ่านการให้ทุนสนับสนุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) ลงพื้นที่ศึกษาวิธีการ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทั้งยังจัดการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อเพื่อติดตามสถานการณ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นให้แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ จึงได้จัดโครงการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2566 และนำผลจากการเสวนาทั้ง 5 ภูมิภาค มาสรุปผลเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไป

ภายในงานครั้งนี้พบกับสรุปภาพรวมการเสวนาเกี่ยวกับส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม จากการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ สงขลา, น่าน, กาญจนบุรี, จันทบุรี และอุบลราชธานี พบปัญหามากมายเกี่ยวกับภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค อาทิ ถูกหลอกลวงให้ซื้อของที่ไม่มีคุณภาพ, ถูกหลอกให้กู้สินเชื่อออนไลน์ ดอกเบี้ยสูง, ถูกแฮกข้อมูลจากมือถือ, ถูกบูลลี่ทางโลกออนไลน์, ถูกหลอกให้รัก, ภัยจากข่าวลวง, การพนันออนไลน์ที่พบมากในสถานศึกษา รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีและข่าวสาร เป็นต้น

เวทีการพูดคุยของผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากข้อมูลบิดเบือน การแก้ไขวิกฤต และการรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว นำโดย ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พร้อมการนำเสนอมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อส่งเสริมการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม โดยดร.ตรี บุญเจือ อนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ปิดท้ายด้วยการนำเสนอร่างมาตรการจากการเสวนา 5 ภูมิภาค

ผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการด้านสื่อ ผู้ผลิตสื่อ สื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถเข้าร่วมงานสรุปผลการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ในวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 8.00 – 12.15 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1 โรงแรม เอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพฯ หรือ ร่วมกิจกรรมผ่านระบบ Zoom Meeting สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ทาง https://evcnx.co/nKjEN หรือสแกน QR Code ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย