นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อการทบทวนกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสตรีและครอบครัว และบรรยายพิเศษ “การพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสตรีและครอบครัว : กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี โดยมี นางกุสุมา พนอนุอุดมสุข เลขานุการกรมเป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งการประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งเป็นการทบทวนกฎหมายการคุ้มครองสวัสดิภาพสตรีและครอบครัวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 เพื่อให้ได้หลักการและแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2539 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากการกระทำความผิดฐานการค้าประเวณี (ในขณะนั้น) มีสาเหตุสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผู้กระทำการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ด้อยสติปัญญา การศึกษา และกระทำต่อเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมี มาตรการกำหนดโทษ ลดโทษให้แก่ผู้กระทำการค้าประเวณี และคุ้มครองบุคคลที่ถูกค้าประเวณี โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชนที่อาจถูกล่อลวง หรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณี กฎหมายจึงได้กำหนดบทลงโทษแก่บุคคลที่ได้กระทำชำเราเด็กในสถานการค้าประเวณี บุคคลซึ่งหารายได้ และได้รับผลประโยชน์จากการค้าประเวณีของเด็กและเยาวชน รวมทั้งบิดา มารดาที่มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการนำเด็ก เยาวชน และผู้อยู่ในความปกครองไปค้าประเวณี โดยเปิดโอกาสให้ผู้กระทำการค้าประเวณีได้รับการอบรมฟื้นฟูจิตใจ การบำบัด รักษาโรค การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งจะมีหน่วยงานราชการที่เป็นสถานแรกรับเพื่อรองรับผู้เข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไว้เป็นการชั่วคราว และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ หรือสถานที่ที่มูลนิธิ สมาคมได้จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ และพัฒนาอาชีพ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ถูกโอนมาตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2558 ให้เป็นภารกิจของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ซึ่งการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มีปัญหาหลายประการ เช่น ฐานความผิดไม่ครอบคลุมกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดปัญหาการตีความ โดยเฉพาะโทษทางอาญาบางส่วนทับซ้อนกับความผิดค้ามนุษย์ (พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551) จึงจำเป็นต้องพัฒนากฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตตามกาลสมัยและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และเป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้ “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้สะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง และก่อนการตรากฎหมายต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชน”
“ผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อการทบทวนกฎหมายฉบับนี้ จะนำมาประกอบการจัดทำ (ร่าง) หลักการ แนวทางและเนื้อหาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี อันนำไปสู่การพัฒนาเป็น (ร่าง) กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีต่อไป” นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย