จากรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2567 ของ Booking.com เผยว่า ผู้เดินทางชาวไทย 94% ยืนยันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อพวกเขา นำแนวทางการปฏิบัติด้านความยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ในการเดินทาง โดย 96% เลือกเข้าร่วมทัวร์หรือกิจกรรมเพื่อสัมผัสประสบการณ์ผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชุมชนที่แท้จริง ซึ่ง 97% ของผู้เดินทางเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านค้าอิสระ และอีก 95% วางแผนการเดินทางเพื่อให้สามารถเดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ 39% ของผู้เดินทางชาวไทย มองว่ารัฐบาลมีบทบาทมากที่สุดในการแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ในขณะที่ 46% เชื่อว่าผู้ให้บริการด้านการเดินทางเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
Booking.com ได้เผยข้อมูลสำคัญจากรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2567 ซึ่งรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากผู้เดินทางกว่า 31,000 คนจาก 34 ประเทศและดินแดน โดยรายงานฉบับนี้เผยถึงทัศนคติ สิ่งที่ผู้เดินทางให้ความสำคัญ และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนของผู้คนทั่วโลกและนักท่องเที่ยวชาวไทย แม้ผลการสำรวจประจำปีนี้ยังคงสะท้อนถึงความต้องการในการออกเดินทางอย่างยั่งยืนและความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งชุมชนท้องถิ่นในหมู่ผู้เดินทางทั่วโลกเหมือนเช่นเคย แต่ข้อมูลใหม่นี้แสดงให้เห็นว่าผู้เดินทางอาจมีภาวะเหนื่อยหน่ายต่อประเด็นความยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะพวกเขายังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการเลือกและวางแผนการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น
ความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับความยั่งยืน
ในปัจจุบันผู้เดินทางรู้สึกว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนไม่ใช่ ‘ความรับผิดชอบ’ ของพวกเขาแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่พวกเขาเชื่อว่าการสนับสนุนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการเดินทาง จะทำให้พวกเขามองเห็นบทบาทและมีส่วนร่วมในการแก้ไขผลกระทบจากการเดินทางได้ดีมากยิ่งขึ้น
84% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่า พวกเขาต้องการทำให้จุดหมายปลายทางที่พวกเขาไปเยือนดีขึ้นกว่าเดิมหลังจากที่เดินทางกลับ (เพิ่มขึ้นจาก 81% ในปีที่แล้ว)
50% ของผู้เดินทางชาวไทยคิดว่าตัวเองมีศักยภาพในการแก้ไขผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อสังคม และชุมชนท้องถิ่นที่พวกเขาเดินทางไปเยือน
อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางชาวไทย (39%) มองว่ารัฐบาลมีบทบาทและศักยภาพมากที่สุดในการแก้ไขผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในขณะที่ 46% เชื่อว่าผู้ให้บริการด้านการเดินทางเป็นฟันเฟืองและกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ 42% ของผู้เดินทางชาวไทยมองว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของการเดินทางและการท่องเที่ยว
ที่พักที่ได้รับการรับรองว่ามีแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ดึงดูดผู้เดินทางชาวไทยถึง 63% และความสม่ำเสมอในการตรวจสอบมาตรฐานความยั่งยืนถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกตัวเลือกที่พักที่ได้รับการรับรองเหล่านี้
78% ของผู้เดินทางชาวไทยเห็นพ้องกันว่าเว็บไซต์การจองที่พักและการเดินทางทั้งหมดควรมอบป้ายสัญลักษณ์สำหรับรับรองที่พักที่มีแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในมาตรฐานเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เดินทางที่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมที่พักต่าง ๆ ได้รับการรับรองว่าเป็นที่พักรักษ์โลกหรือที่พักที่มีแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนลดลงจนเหลือ 56% (ลดลงจากปีที่แล้ว 26%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการในการสื่อสารที่เรียบง่าย ชัดเจน ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายโดยไม่คำนึงถึงลำดับความสำคัญในประเด็นอื่น
เมื่อการเดินทางอย่างยั่งยืนเผชิญกับความท้าทาย
รายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2567 ยังระบุอีกว่า ผู้เดินทางชาวไทยถึง 94% ยืนยันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อพวกเขา ขณะที่ 30% รู้สึกว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นนั้นสำคัญ แต่ไม่ใช่สิ่งที่พิจารณาเป็นอันดับแรกเมื่อวางแผนหรือจองทริปการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางชาวไทยจำนวน 46% รู้สึกเบื่อหน่ายกับการรับรู้เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อนอยู่ตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้ การร่วมมือกันของผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคย เพราะการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนมากขึ้นยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเมื่อพูดถึงอนาคต 85% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่า พวกเขาต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า และ 58% จะรู้สึกผิดเมื่อตัดสินใจเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนน้อยกว่า
เมื่อพูดถึงแรงจูงใจของผู้ที่ต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น 18% ของผู้เดินทางชาวไทยจะเดินทางอย่างยั่งยืนเพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำ
ในทางกลับกัน ความรู้สึกผิดหวังที่เกิดขึ้นในการเลือกเดินทางอย่างยั่งยืนอาจค้านกับความตั้งใจอันดีเหล่านั้น แง่มุมใหม่ที่ Booking.com ได้จากสำรวจเป็นครั้งแรกในปีนี้ เผยให้เห็นว่า ผู้เดินทางบางกลุ่มไม่ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของพวกเขา
57% ของผู้เดินทางชาวไทยรู้สึกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้นไม่อาจย้อนกลับคืนได้ และการตัดสินใจเลือกการเดินทางของพวกเขาไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
46% ของผู้เดินทางชาวไทยรู้สึกว่าช่วงเวลาที่ได้ไปท่องเที่ยวมีค่าเกินกว่าจะให้ความสำคัญกับการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นอันดับแรก
ผู้เดินทางชาวไทยเกินกว่าครึ่ง (56%) เชื่อว่าแม้พวกเขาจะเลือกเดินทางอย่างยั่งยืน แต่หากจุดหมายปลายทางหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่พวกเขาไปเยือนไม่ได้นำแนวทางด้านความยั่งยืนไปปฏิบัติอย่างจริงจัง สิ่งที่พวกเขาเลือกก็ไร้ซึ่งประโยชน์
ความหวังอันสดใสของการเดินทางอย่างยั่งยืน
แม้ความกังวลจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้เดินทางที่เลือกเดินทางอย่างมีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคมรู้สึกว่าประสบการณ์การเดินทางเพื่อความยั่งยืนช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับการเดินทางของพวกเขา
ผู้เดินทางชาวไทย 79% ยอมรับว่าพวกเขาเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุดเมื่อได้เดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น ส่งผลให้พวกเขานำแนวทางเหล่านี้กลับมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
ในขณะที่ผู้เดินทางชาวไทย 80% รู้สึกว่าการได้พบเห็นและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนระหว่างการเดินทางจุดประกายให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากขึ้นในชีวิตประจำวัน
ผู้เดินทางชาวไทยได้นำแนวทางการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ในการเดินทาง โดย 96% เลือกเข้าร่วมทัวร์หรือกิจกรรมเพื่อสัมผัสประสบการณ์ผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชุมชนที่แท้จริง 97% เลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านค้าอิสระ อีกทั้ง 95% วางแผนการเดินทางเพื่อให้สามารถเดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้
“เพราะในปัจจุบันสิ่งที่สำคัญสำหรับการเดินทางอย่างยั่งยืน คือ การทำให้ผู้เดินทางมั่นใจอยู่เสมอว่าตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลือกที่สามารถเข้าถึงและเลือกสรรได้อย่างง่ายดาย แต่ต้องเข้าใจง่ายและน่าเชื่อถือด้วย เราจึงเชื่อว่าการให้ข้อมูลความรู้ การแสดงและตรวจสอบมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ รวมถึงการรับรองที่เชื่อถือได้จากพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทางอย่างแท้จริง แม้ว่าสัญญาณของความเบื่อหน่ายในหมู่ผู้เดินทางจะเป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนให้เราเดินหน้าไปสู่เป้าหมายสูงสุดของเราในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนท้องถิ่น และจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้ในท้ายที่สุดผู้เดินทางสามารถร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงการเดินทางสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” Danielle D’Silva ,Head of Sustainability ของ Booking.com กล่าว
ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2567 ฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ห้องข่าวของ Booking.com
https://news.booking.com/th-th/thai-travelers-mission-leaving-destinations-better-than-found-unveils-bookingcom-sustainable-travel-report-2024/
รายละเอียดเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล
*การสำรวจข้อมูลนี้จัดทำโดย Booking.com โดยสำรวจความคิดเห็นกับกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 31,550 คนใน 34 ประเทศและดินแดน (โดยแบ่งเป็น 1,000 คนจากสหรัฐอเมริกา, 1,000 คนจากแคนาดา, 1,000 คนจากเม็กซิโก, 1,000 คนจากโคลอมเบีย, 1,000 คนจากบราซิล, 1,000 คนจากอาร์เจนตินา, 1,000 คนจากออสเตรเลีย, 500 คนจากนิวซีแลนด์, 1,000 คนจากสเปน, 1,000 คนจากอิตาลี, 1,000 คนจากฝรั่งเศส, 500 คนจากสวิตเซอร์แลนด์, 1,000 คนจากสหราชอาณาจักร, 1,000 คนจากไอร์แลนด์, 1,000 คนจากเยอรมนี, 1,000 คนจากเนเธอร์แลนด์, 1,000 คนจากเบลเยียม, 1,000 คนจากเดนมาร์ก, 1,000 คนจากสวีเดน, 950 คนจากโครเอเชีย, 500 คนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์, 1,000 คนจากอินเดีย, 1,000 คนจากจีน, 800 คนจากฮ่องกง, 1,000 คนจากไทย, 1,000 คนจากสิงคโปร์, 1,000 คนจากไต้หวัน, 1,000 คนจากเวียดนาม, 1,000 คนจากอินโดนีเซีย, 1,000 คนจากฟิลิปปินส์, 1,000 คนจากเกาหลีใต้, 1,000 คนจากญี่ปุ่น, 1,000 คนจากแอฟริกาใต้ และ 300 คนจากเคนยา) ในการเข้าร่วมการสำรวจ กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องเคยเดินทางอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และต้องกำลังวางแผนการเดินทางในปี 2567 รวมทั้งเป็นผู้ตัดสินใจหลักหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเดินทางของตนเอง แบบสอบถามนี้เปิดให้ทำทางออนไลน์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567