สสส. ร่วมกับมูลนิธิฟอร์เวิร์ด เปิดตัวแอปพลิเคชัน FORWARD

79

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิฟอร์เวิร์ด (forward foundation)  เปิดตัว “แอปพลิเคชัน FORWARD” และ 5 โครงการ เพื่อส่งต่อโอกาสในการให้อย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ 1.โครงการ Let’s be heroes 2. โครงการศูนย์สร้างโอกาสเด็ก 3. โครงการ forOldy 4. โครงการ The Prison Project และ 5. โครงการ Wonder view โดยมี พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผอ.ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย ผู้จุดประกายบทบาทแห่งการให้ในมิติที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนแอปพลิเคชัน FORWARD ที่จะเติมเต็มการให้ในสังคมได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งในระยะเริ่มต้น มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมในการสร้างโอกาสที่ดีถึง 5 โครงการ และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเช่น หมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์คุณบอม สุทธิศักดิ์ สินเจริญ เป็นต้น

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนโครงการ “ฟอร์เวิร์ด : ขับเคลื่อนศูนย์กลางสนับสนุนการให้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” โดยร่วมสร้างสังคมแห่ง “การให้” เอื้ออาทรซึ่งกันและกันนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ โดย สสส.ให้ความสำคัญกับสุขภาวะในทุกมิติ ครอบคลุมมิติกาย จิต ปัญญาและสังคม ในมิติ “ปัญญา” คือ การสนับสนุนการพัฒนาจิตสู่ “จิตใหญ่” เชื่อมโยงตนและเห็นแก่ส่วนร่วม เช่น กิจกรรมด้านจิตอาสา หรือ การให้โดยใช้นวัตกรรมช่องทางการสื่อสารอย่างแอปพลิเคชัน เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสในสังคมให้มีโอกาสทางสุขภาวะที่ดีขึ้น สำหรับแอปพลิเคชัน FORWARD จะเป็นศูนย์กลางแห่งการส่งต่อการให้ที่เป็นรูปธรรม สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนว่าสิ่งที่ให้ได้ถึงผู้รับจริง และในอนาคตจะไม่มีเพียง 5 โครงการนี้เท่านั้น แต่ทุกคนสามารถเข้าไปสร้างโครงการดีๆ ได้ในแอปพลิเคชัน เพื่อเกิดจิตอาสาแห่งการให้อย่างไม่รู้จบ

“สสส.ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ทำสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ช่วยสร้างความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างลึกซึ้งขึ้นก่อนการตัดสินใจให้ อย่างโครงการ Wonder view มากกว่าแว่นตา คืออนาคตที่สดใส ที่สสส.ได้มีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด “นับเราด้วยคน” สะท้อนปัญหาพัฒนาการเด็กในพื้นที่ชายแดนที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป เนื่องมาจากความผิดปกติในการมองเห็น จึงจัดกิจกรรมมอบแว่นตาให้แก่นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาด้านสายตา ช่วยให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ชายแดนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร” นางภรณีกล่าว

ด้านนายอิศรา เล็บนาค กรรมการมูลนิธิฟอร์เวิร์ด กล่าวว่า การทำความดีในยุคที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ ช่วยให้การส่งต่อให้กันเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้การส่งต่อนั้นไปถึงได้อย่างทันท่วงที โดยผ่านการตรวจสอบและคัดเพื่อทำให้ “การให้” ที่ถูกส่งต่อไปนั้น ผู้ให้และผู้ได้รับได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และเมื่อจุดเริ่มต้นคือการมีเจตนาที่ต้องการช่วยเหลือและพร้อมที่จะลงมือทำในทันที สิ่งนี้จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราได้สร้างแอปพลิเคชัน FORWARD ภายใต้เจตนาของผู้ให้ที่ต้องการให้อย่างไม่ลังเล โดย FORWARD จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ให้และผู้รับได้ร่วมสร้างสรรค์โอกาสที่ดีไปด้วยกัน ซึ่งทำได้โดยการสร้างโครงการที่เราเล็งเห็นแล้วว่าต้องการความเชื่อเหลือ ลงในแอปพลิเคชัน FORWARD พร้อมเขียนรายละเอียดในสิ่งที่ต้องการ อาทิเช่น การช่วยระดมเงิน หรือ การประกาศรับจิตอาสา และสามารถทำได้อีกหลายกรณีที่เป็นการส่งต่อการให้เป็นด้วยกัน ภายใต้ระบบการทำงานของแอปพลิเคชันที่มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบแต่ละโครงการได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังทราบได้ว่า สิ่งที่เราได้ส่งต่อออกไปนั้นได้ไปถึงปลายทางของผู้รับแล้วหรือไม่ ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสในทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Forward Foundation ลงในสมาร์ทโฟน ได้ทาง ios และ android

หรือติดตามรายละเอียดได้ใน www.facebook.com/forwardfoundationth

ข้อมูลโครงการนำร่องในระยะเริ่มต้น

1.โครงการ Let’s be heroes โดย หมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นแรงบันดาลใจในการประกวดนางสาวไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการเปิดฟรีคลินิก เพื่อรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งจากความฝันในวันนั้นทำให้วันนี้หมอเจี๊ยบได้ออกเดินทำให้เป็นจริง โดยการจัดตั้งสองกิจกรรมที่เป็นการสร้างสิ่งที่ดีให้สังคม กิจกรรมที่หนึ่ง สอนการทำ CPR ด้วยสองมือ เพื่อรักษาชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้น และการสอนการใช้เครื่อง AED เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจโดยใช้ไฟฟ้า โดยนำทีมแพทย์ลงสอนในพื้นที่ต่างๆด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และอีกหนึ่งกิจกรรมที่หมอเจี๊ยบและกลุ่มทีมแพทย์ ได้ตั้งใจทำร่วมกัน คือการออกรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร โดยทำการตรวจสอบยังพื้นที่ต่างๆว่าต้องการความช่วยเหลือในสิ่งใด ทั้งบุคคลากร หรือเครื่องมือทางการแพทย์ ทางโครงการก็จะทำการประสานงานเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันเวลา

  1. โครงการศูนย์สร้างโอกาสเด็ก โดย ครูเชาว์ เชาวลิต สาดสมัย

ด้วยชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งความพิการและถูกทิ้งจากครอบครัวตั้งแต่เด็ก เขากลับไม่นำสิ่งนี้มาเป็นตัวที่ขวางทางเดินของชีวิต แต่กลับนำเป็นแรงผลักดันเพื่อเติมเต็มสังคมให้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่เขาได้ทำ ซึ่งปัจจุบันครูเชาว์ ได้สร้างศูนย์สร้างโอกาสเด็กในชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ให้เด็กได้มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ อีกทั้งยังทำให้ครอบครัวได้มาร่วมสร้างกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่แห่งนี้ ตัวอย่างกิจกรรมที่ครูเชาว์ได้สร้างขึ้นในแต่ละชุมชน คือ ร้านศูนย์บาท ร้านที่ให้เด็กๆในชุมชนนำขยะหรือของที่ไม่ใช้แล้วมาแลกเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ถ้าต้องการถุงเท้า ก็ต้องนำขวดน้ำสามสิบขวดมาแลกถุงเท้าไปใช้ ด้วยวิธีนี้ทำให้เด็กๆในชุมชนมองเห็นคุณค่าในของที่ไม่ใช้แล้ว และยังลดขยะในชุมชนได้อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ครูเชาว์ยังมีการเรียนรู้ในด้านอื่นๆที่สอนเด็กๆในชุมชนอีกหลายด้าน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้มีกิจกรรมที่ดี ห่างจากปัญหายาเสพติด หรือภาวะที่ครอบครัวไม่พร้อมเลี้ยงดู ด้วยเหตุที่ครูเชาว์ผ่านจุดนี้มาในชีวิต จึงทำให้เห็นความสำคัญในการเติมเต็มในสิ่งที่สังคมยังต้องการ

  1. โครงการ forOldy โดย คุณนุช อรนุช เลิศกุลดิลก

เมื่อวัยแห่งความร่วงโรยได้มาถึง คุณค่าในชีวิตที่เคยภูมิใจกลับถูกลดทอนลงไปด้วยการทำอะไรไม่ได้เหมือนแต่ก่อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณนุช ได้สร้างโครงการ forOldy ที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้กลับมาภูมิใจในคุณค่าของตัวเองอีกครั้ง และยังเป็นโครงการพัฒนาผู้สูงอายุในด้านต่างๆให้มีการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ทั้งร้านคุณตาคุณยาย ที่มีอุปกรณ์ที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้ จำหน่ายและเช่าในราคาที่ย่อมเยาว์ , กองทุนอุ่นใจ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้สูงอายุเริ่มสะสมเงินในวันที่ต้องจากโลกนี้ไปเพียงเดือนละยี่สิบบาท และ อาสาสมัครเพื่อผู้สูงอายุที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆที่ทางโครงการจัดทำขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

  1. โครงการ The Prison Project โดย คุณบอม สุทธิศักดิ์ สินเจริญ

ในวันที่เคยกระทำความผิด นั่นอาจเป็นจุดผิดพลาดหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่หากวันหนึ่งเมื่อสำนึกถึงความผิดและกลับตัวเป็นคนที่ดีได้แล้ว อะไรจะเป็นจุดที่นำทางให้พวกเขาที่เคยถูกต้องขังในเรือนจำมีอนาคตที่ดีและไม่กระทำผิดซ้ำสองได้ คุณบอม สินเจริญฯ ได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้จากน้องชายคนสนิทที่เคยถูกต้องขังในเรือนจำ แต่วันนี้เขากลับมีชีวิตที่ดีได้เพียงเพราะมีอาชีพติดตัวออกมา จึงทำให้มีเป้าหมายในชีวิตอย่างชัดเจน คุณบอมจึงได้สร้าง The Prison project โดยการรวบรวมเพื่อนศิลปินจัดคอนเสิร์ตในเรือนจำในที่ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นคนดีของสังคมในวันที่พ้นโทษออกมา

  1. โครงการ Wonder view ทำทีมโดยจิตอาสา คุณนนท์ ธนนท์ จำเริญ

จากจุดเริ่มต้นที่พบว่าเด็กไทยมีความผิดปกติในด้านการพัฒนาการที่มากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้การเรียนของเด็กๆที่ทางหน่วยงานสำรวจพบว่า มีเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เมื่อทำการดูอย่างละเอียดจึงพบว่า ในเด็กกลุ่มนั้นมีความผิดปกติในด้านการมองเห็น จึงทำให้การสังเกตสิ่งรอบตัว การเรียนรู้ที่ต้องใช้สายตาในการช่วยจดจำ เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ โครงการ Wonder view จึงเล็งเห็นในความสำคัญในข้อนี้เป็นอย่างมาก ในครั้งแรกโครงการจึงจัดหาแว่นตาและสมทบเงินจากผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อส่งต่อไปยังน้องๆในอำเภอพบพระ ซึ่งในครั้งแรกนี้ได้แว่นตาจำนวน 62 อัน และเงินสมทบจำนวน 97,140 บาท และต่อมายังได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลพบพระที่มอบแว่นให้น้องจำนวน 120 อัน ซึ่งในครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นนี้ทางโครงการต้องการจัดหาแว่น รวมถึงบุคคลากรเพื่อลงพื้นที่ตรวจสายตา เพื่อรักษาและมอบแว่นตาให้ครอบคลุมในหลายๆพื้นที่ที่เด็กๆมีปัญหาเดียวกัน