บีไอจี จับมือ ราช กรุ๊ป ศึกษาและพัฒนากรีนไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียน

34

บีไอจี และ ราช กรุ๊ป  ลงนามความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตกรีนไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่งและการผลิตไฟฟ้าในอนาคต เพื่อไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รวมทั้งการสร้างสรรค์สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นความเป็นพันธมิตรของราชกรุ๊ป กับบีไอจี เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาร่วมกันพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนและโอกาสทางธุรกิจ บริษัทฯ ถือเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้ามาคิดค้นวิธีการและรูปแบบในการนำไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาผลิตกรีนไฮโดรเจน อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาสนับสนุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“โครงการนี้ ถือเป็นก้าวแรกของบริษัทฯ ที่จะเข้าสู่ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าโดยสามารถขยายธุรกิจไปยังฐานผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนของบริษัทฯ โดยเฉพาะออสเตรเลีย อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าให้กับบริษัทฯ ในอนาคตระยะยาว เพราะกรีนไฮโดรเจน ถือเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ความต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ยังตอบสนองแผนการลดก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 เช่นกัน” นิทัศน์ กล่าว

ปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่า บีไอจีเดินหน้าในการนำนวัตกรรมจากไฮโดรเจนที่บีไอจีและแอร์โปรดักส์ บริษัทแม่ของบีไอจีจากประเทศสหรัฐฯ มีความชำนาญและเป็นผู้ลงทุนโครงการกรีนไฮโดรเจนรายใหญ่ที่สุดของโลก ในโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน Neom ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีกำลังการผลิตกรีนไฮโดรเจนกว่า 600 ตันต่อวัน และต่อยอดการลงทุนในการผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในการพัฒนาศูนย์กลางไฮโดรเจนระดับภูมิภาค 7 แห่ง (Hydrogen 7 Hubs) ของประเทศสหรัฐฯ มุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนในระดับสากล มีกลยุทธ์ Generating A Cleaner Future ร่วมกับทุกภาคส่วน

บีไอจีตระหนักถึงการใช้พลังงานสะอาดเพื่อร่วมผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ในประเทศไทยด้วยการผลักดันการผลิตและการใช้ประโยชน์จากพลังงานไฮโดรเจนซึ่งเป็นหนึ่งใน Climate Technology เพื่อเป็นแรงสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการร่วมมือศึกษาธุรกิจและพัฒนาการผลิตกรีนไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียน (Renewal Energy) โดยมีแหล่งพลังงานที่หลากหลาย

อาทิ พลังงานน้ำ (Hydropower) พลังงานลมและพลังงานแสงแดดจากสปป. ลาว รวมถึงพลังงานลมและพลังงานแสงแดดจากแผงโซล่าเซลล์ในประเทศออสเตรเลียนี้ กรีนไฮโดรเจนที่ได้จะถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมและประเทศบรรลุเป้าหมาย NDC Plan 2573 ได้สำเร็จ การใช้กรีนไฮโดรเจนนี้ยังช่วยผลักดันภาคอุตสาหกรรมในการแข่งขันในตลาดโลกจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ด้วย