PDPC เปิดภารกิจเชิงรุก แนะนำการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่เจ้าหน้าที่ DPO กทม.

35

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC เปิดภาระกิจเชิงรุก นำคณะสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล เข้าดำเนินการแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) กรุงเทพมหานคร เพิ่มประสิทธิภาพกำกับดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และช่วยจัดการสภาพแวดล้อมในแต่ละหน่วยมีมาตรการ “ป้องกัน” ความเสี่ยงที่จะมีข้อมูลรั่วไหล พร้อมส่งเสริมเป้าหมายด้านการพัฒนากำลังคน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมาย PDPA ในวงกว้าง

นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหาร พร้อมด้วย พล.ต.ต.กฤษศักดิ์ สงมูลนาค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC นำทีม คณะสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล, สำนักส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และฝ่ายตรวจสอบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และฝ่ายกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคล เจ้าหน้าที่โครงการ เข้าดำเนินการตรวจแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) กรุงเทพมหานคร

สำหรับภารกิจการตรวจแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นหนึ่งในมาตรการเชิงรุกของ ‘สำนักตรวจสอบและกำกับดูแล’ หน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ในการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) เพื่อช่วยเรื่องการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในแต่ละหน่วยงาน ไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีข้อมูลรั่วไหล ด้วยกลไกการให้ความรู้เพิ่มมาตรฐานครอบคลุมทั้งในด้านทักษะ การป้องกัน รูปแบบการแก้ไขปัญหา รวมถึงสร้างความพร้อมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) กรุงเทพมหานคร สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

โดยมีคณะเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) กรุงเทพมหานคร นำโดย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล, ผู้อำนวยการกองควบคุมระบบคอมพิวเตอร์,  รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์กรุงเทพ, ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เข้าร่วมรับการตรวจแนะนำจาก PDPC ภายใต้เนื้อหาสำคัญต่าง ๆ อาทิ กลไลการขับเคลื่อนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ, นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเชิงรุก, กลไกการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงกรอบการตรวจแนะนำ 10 ด้าน ที่ทางฝั่ง PDPC เน้นหนัก ร่วมหารือพร้อมสอบถามความคืบในการดำเนินหน้าที่การทำงานในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ กรุงเทพมหานคร อย่างละเอียด พร้อมแนะแนวทางการดำเนินงาน ที่ต้องมีการเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การรั่วไหลของข้อมูล หรือการใช้ข้อมูลในทางที่ผิด

โดยปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีงานบริการประชาชนทั้งหมด 77 หน่วยงาน และกว่า 700 หน่วยงาน มีบุคลากรมากกว่า 80,000 คน ที่มีส่วนในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของทั้งประชาชน และบุคลากรในกรุงเทพมหานคร จึงมีข้อมูลปริมาณมหาศาล จึงเป็นข้อมูลที่มีความเสี่ยง และมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก จำเป็นต้องมีมาตรการ “ป้องกัน” ข้อมูลที่อาจเกิดการรั่วไหลให้มากที่สุด

ทั้งนี้ การตรวจแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนากำลังคนด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักรู้ รวมถึงความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ให้เข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วนได้ในวงกว้าง โดยปัจจุบัน PDPC ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานกับเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) รวมกว่า 2,156 หน่วยงานทั่วประเทศ