เก๋าให้ทันเกม สังคมสูงวัย : ก้าวไปด้วยกัน ในโลกดิจิทัล 

125

หากกล่าวถึงผู้สูงอายุในอดีตเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรื่องของโลกเทคโนโลยี ไม่ใช่สิ่งที่ใกล้ตัวพวกเขาเลย แต่ในวันนี้ผู้สูงอายุก็คือกลุ่มที่อยู่ในโลกดิจิทัล แทบทุกคนมีสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ทที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ต

โลกยุคดิจิทัล แม้ในมุมหนึ่งคือเรื่องของการรู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากการสื่อสารที่ทันสมัย แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็คือดาบที่ซ่อนคมเอาไว้ เพราะเรื่องราวในนั้น มีทั้งเรื่องหลอกและเรื่องจริง เป็นอีกช่องทางที่อาจจะสร้างผลกระทบและความสูญเสียให้กับผู้ใช้งานได้หากรู้ไม่เท่าทัน เหมือนที่ข่าวหลอกลวงผู้สูงอายุที่มีให้เห็นมามากแล้ว ทั้งเรื่องที่แชร์กันไปในโซเชียลโดยไม่มีมูลความจริง ไปจนถึงกลโกงสารพัดรูปแบบ

วันนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจ จากงานเสวนาเรื่อง “สังคมสูงวัย: ก้าวไปด้วยกัน” ครั้งที่ 2 : สังคมสูงวัยกับโลกดิจิทัล” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และภาคีเครือข่ายจัดเวทีเสวนาสาธารณะ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี เป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ “สังคมสูงวัยกับโลกดิจิทัล” ด้วย

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าวว่า ผู้สูงวัยในสังคมสมัยใหม่ หรือโลกดิจิทัล จะตกอยู่ในสังคมทอดทิ้งกัน ทุกคนมีความเครียดสูง เครื่องจักรจะทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ขาดความเป็นชุมชน แต่มีข้อดีคือ จะทำให้คนสนใจการเจริญสติมากขึ้น สำหรับทางออกของปัญหาผู้สูงอายุในอนาคต ชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็ง มีความคิดริเริ่มนำนวัตกรรมมาใช้ให้สามารถดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดได้ และจะต้องพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) คือการมีทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แทปเลต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการอยู่ร่วมกัน ที่สำคัญจะต้องไปสู่สังคมสูงวัยที่ก้าวไปด้วยกันด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 มีผู้สูงอายุประมาณ 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรไทย ซึ่งคาดว่าไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า และในปี 2562 และเป็นครั้งแรกที่ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็ก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยนี้ เป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

นางภรณี กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่เสนอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่า มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4.2 ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดีย ผู้สูงอายุไทยในอนาคตจึงต้องรู้เท่าทันและสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟน ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โปรแกรมการดูแลสุขภาพต่างๆ ตลอดจนการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ตกเป็นผู้เสียหาย โดนหลอกจากการเผยแพร่ข่าวสารปลอม นำไปสู่การละเมิดสิทธิ การฉ้อโกงทรัพย์สิน การเสวนาสาธารณะครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอตัวอย่างของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจ้างงานผู้สูงอายุ การรู้เท่าทันสื่อยุคใหม่ การเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุผ่านการรวมกลุ่มหรือ กิจกรรมที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ภายในงานมีการมอบรางวัลโครงการประกวด“นวัตกรรม การดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มุ่งเน้นให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ หรือ รูปแบบที่หลากหลายในการดูแลส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรงหรือกลับดีขึ้นมาได้ โดยเล่าผ่านคลิปวิดีโอ “ไอเดียสุดเจ๋ง ที่ทำให้ผู้สูงอายุยิ้มได้” แบ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง และนวัตกรรมเพื่อป้องกันผู้สูงอายุที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือ สร้างเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุ ซึ่งผลงานชนะเลิศได้แก่ ผลงาน เรื่อง ล้อเลื่อนเคลื่อนชีวิต โดย น.ส.อัจฉรา เอียดหวัง นักศึกษากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งจะมีการต่อยอดนวัตกรรมที่น่าสนใจเหล่านี้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวิร์คช้อป พัฒนาศักยภาพการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และการใช้แอปพลิเคชันที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย

ลูกหลานและคนใกล้ชิดเป็นช่องทางที่ดีในการช่วยกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ในการรับข่าวสารในโลกดิจิทัลของผู้สูงอายุ ขณะที่ตัวเราเองก็ต้องรู้เท่าทันกับกลเกมเหล่านั้นให้ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อ และได้ใช้ประโยชน์ของสังคมดิจิทัลได้อย่างสบายใจ