ซีเอ็นเอช ประเทศไทย ขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยด้วยนวัตกรรมและการศึกษา

32

ซีเอ็นเอช บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอุปกรณ์และบริการทางการเกษตรและก่อสร้าง เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมระดับโลก รวมถึงรถแทรกเตอร์พลังงานก๊าซมีเทนและรถแทรกเตอร์ไฟฟ้าที่มาพร้อมคุณสมบัติการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ประกาศเปิดตัวนวัตกรรมและโครงการด้านการศึกษาหลายโครงการ เพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตรและความยั่งยืนของภาคการเกษตรในประเทศไทย ในงาน Media Day ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ชุน วอยเทร่า ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของซีเอ็นเอช กล่าวว่า ความยั่งยืนและนวัตกรรมตลอดระยะเวลา 182 ปีที่สั่งสมมาอันยาวนานของบริษัท พาเรามาถึงจุดนี้ที่เราภาคภูมิใจ เรามีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ความมุ่งหวังของเรา คือ การนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซีเอ็นเอชมาสู่เกษตรกรไทย และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและทุกภาคส่วน และเพื่อที่จะสนับสนุนความในเรื่องดังกล่าว เราจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเครื่องจักรที่จะส่งมอบให้กับทุกกลุ่มผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาของเราที่มีถึง 49 แห่งทั่วโลก

นอกจากนี้ภาคการศึกษาทางด้านเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เรามองว่า จะทำให้คนในเจนเนอเรชั่นใหม่ๆที่ไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และมองหาความชีวิตที่สะดวกสบาย รายได้ที่สูงกว่า อาจจะช่วยผลักดันให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้หันกลับมาไปทำเกษตรกรรมที่บ้านเกิดของตนเองก็เป็นได้

ชุน วอยเทร่า

ซีเอ็นเอช จึงให้การสนับสนุนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี นครสวรรค์ ในการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกและสิ่งอำนวยความสะดวกขนาด 45 เฮกตาร์ (280 ไร่) ให้เป็นฟาร์มต้นแบบ เพื่อยกระดับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ การวิจัย การถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีในชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ ซีเอ็นเอช ยังสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เน้นหัวข้อเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่และ เทคโนโลยีการเกษตรแบบแม่นยำ

มาร์ค บรินน์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น บริษัท ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีเอ็นเอช เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอุปกรณ์และบริการทางการเกษตรและก่อสร้าง เป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์ระดับโลก เช่น เคส ไอเอช (Case IH) และ นิว ฮอลแลนด์ (New Holland) เป็นผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญในภาคการเกษตรมานานกว่า 182 ปี และได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2491 โดยผสมผสานเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ากับเครื่องจักรกลสมรรถนะสูง

“จุดมุ่งหมายของเราคือการ ‘บุกเบิก’ ผ่านนวัตกรรม ความยั่งยืน และการสร้างผลผลิต ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่งที่เราทำ เรามุ่งมั่นสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีอัจฉริยะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับงานอัน ทรงคุณค่าของเกษตรกร”

ซีเอ็นเอช จึงอยากนำเสนอรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตรรุ่นใหม่ New Holland T4 ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า กำลัง 60 แรงม้า ที่ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีรอบคัน แบตเตอรี่จะรองรับการใช้งานเบา ได้ 6-8 ชั่วโมง ส่วนงานหนักเช่นการขุดดิน จะใช้ได้ 4 ชม ซึ่งเราจะพัฒนาแบตเตอรี่ต่อไป โดยจะเปิดตัวในไทยปี 2026 และรถแทรกเตอร์รุ่น New Holland T6 ซึ่งจะออกสู่ตลาดในต้นปีหน้าและเป็นรถคันแรกของโลกที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ กำลัง 180 แรงม้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร และจะเปิดตัวในประเทศไทยเดือนมกราคม ปีหน้า 2025 โดยปัจจุบัน รถ New Holland มีผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ 50 สาขา และในอนาคตตั้งเป้าจะให้มีครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนผู้แทนจำหน่ายรถตัดอ้อย Case IH มี 2 สาขาคือที่กำแพงเพ็ชรและนครสวรรค์

ซีเอ็นเอชได้ควบรวมกับ เบ็นนามันน์ (Bennamann) ซึ่งทำธุรกิจเก็บกักแก๊สที่ถูกปล่อยออกมาจากปศุสัตว์ โดยเมื่อสัตว์ปล่อยแก๊สมีเทนออกมาสู่บรรยากาศ จะใช้วิธีการกักเก็บแก๊ส นำมาบีบอัด ทำความสะอาด และใส่กลับเข้าไปในถังเก็บ ซึ่งหากฟาร์มนั้นมีการใช้รถแทรกเตอร์พลังงานก๊าซธรรมชาติก็จะสามารถนำไปเติมได้ทันที หรือนำไปใช้ในการหุงต้มอาหาร หรือแม่กระทั่งขาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือเราใช้ประโยชน์ของการนำของเสียทั้งหมดมารีไซเคิล

นอกจากนี้ ซีเอ็นเอชยังได้แนะนำเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ซี่งเปรียบเสมือน connected support specialist ที่ทางบริษัทฯ พัฒนาโดยติดตั้งบนรถแทรกเตอร์และใช้สื่อสารกับ control room หรือติดต่อกับรถแทรกเตอร์คันอื่นๆ ในฟาร์มได้ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อผ่านแอปบนมือถือ หากรถเกิดขัดข้องทางเทคนิค เช่นน้ำมันรั่ว หรือเกิดควัน จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที ระบบ Guidance & Steering ช่วยวางแผนการวาดพื้นที่การใช้งาน

โดยรถจะทำงานตามทิศทางที่กำหนด ผสานกับระบบนำทางอัตโนมัติ ช่วยลดความเหนื่อยล้าของเกษตรกร และ fieldXplorer การใช้โดรนในการวางแผนการเกษตร โดยโดรนจะทำการวิเคราะห์ตั้งแต่การเก็บภาพถ่ายแปลงงาน นำไปใส่ในระบบซอฟท์แวร์เพื่อประมวลผล ช่วยให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่างทาง ไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้มากที่สุด มาร์ค บรินน์ กล่าวเสริม

มาร์ค บรินน์ ร่วมกับชุน วอยเทร่า ประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในหลายภาคส่วนและการร่วมกันสร้างเพื่อบูรณาการ และนำโซลูชั่นการเกษตรแบบแม่นยำ เครื่องจักรกลสมัยใหม่ และการฝึกอบรมทักษะภาคปฏิบัติไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการเป็นศูนย์กลางการเกษตรระดับโลก

ซีเอ็นเอช ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้นำภาคความคิดมาร่วมพูดคุยกันในงาน Media Day เพื่อร่วมกันแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้ม เทคโนโลยี และความท้าทายในภาคการเกษตรไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงาน อาทิ คุณ สุมาลี ชิณวงศ์ ผู้อำนวยกลุ่มส่งเสริมพืชเส้นใยและพืชหัว กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณเบญจวรรณ ฤกษ์สมเด็จ ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารการศึกษา บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด คุณทองอาบ บุญอาจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี นครสวรรค์ และผู้นำภาคเหนือขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ดร. ธิติ มหบุญพาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพณิชยการและเทคโนโลยีและศาสตราจารย์ ดร.อุมา สีบุญเรือง รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการระหว่างประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ด้วยความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ซีเอ็นเอช ให้การสนับสนุนโครงการการศึกษาการเกษตรในประเทศไทย รวมถึงโครงการทุนการศึกษา ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพณิชยการและเทคโนโลยี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อออกแบบหลักสูตรการฝึกภาคปฏิบัติ และโครงการฝึกงาน ซึ่งในปีนี้ ซีเอ็นเอช และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อขยายความร่วมมือไปสู่การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร

ซีเอ็นเอชได้จัดตั้ง Model Farm (ศูนย์การเรียนรู้) โดยร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ ซึ่งทำการสาธิตเครื่องจักรกลทางการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกรไทย โดยทำภายในศูนย์นี้ และไม่ได้จำกัดเฉพาะคนใน แต่เปิดโอกาสให้กับผู้สนใจทั่วไป และภาครัฐ

ซีเอ็นเอช ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่ทำงานยอดเยี่ยม มีพนักงานประมาณ 200 คนในประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดำเนินธุรกิจในตลาดผ่านแบรนด์ เคส ไอเอช และนิว ฮอลแลนด์ สำหรับภาคธุรกิจการเกษตร และแบรนด์ CASE และ New Holland Construction สำหรับภาคธุรกิจก่อสร้าง เรามีโรงงานประกอบรถตัดอ้อยรุ่น Case IH Austoft ซึ่งเคส ไอเอชคือผู้นำตลาดรถตัดอ้อยในประเทศไทย และศูนย์ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ทันสมัย สำหรับตรวจสอบเครื่องจักรกลที่เชื่อมต่ออยู่กับระบบ เพื่อการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด

โดยสรุป ทางออกวิกฤตแรงงานภาคเกษตรคือการศึกษา อีกไม่นานสังคมทั่วโลกกำลังจะกลายเป็น aging society เนื่องจากการเกิดน้อยลง โดยภายในปี 2578 การเกิดจะลดลงถึงครึ่งนึง ดังนั้นในอนาคตการใช้เทคโนโลยีมีความจำเป็นมากโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นโดรน การเกษตรแม่นยำ ซึ่งวิทยาลัยและภาคการศึกษาอาจไม่มีงบประมาณมากพอ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกันในการจัดหาครุภัณฑ์ การฝึกอบรมและการจัดโปรแกรมสำหรับการปฏิบัติหน้างานจริง

นอกจากรุ่นเด็กในเจนเนอเรชั่นใหม่ เราไม่ควรจะลืมกลุ่มวัยกลางคน โดยจะต้องเพิ่มทั้ง Upskill/Reskill เพราะนอกจากแรงงานที่มีจำนวนน้อยลงไปทุกที แต่ความต้องการผลผลิตยังคงเท่าเดิมหรืออาจมากกว่า ดังนั้นจึงต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ เข้ามาช่วย การปรับปรุงหลักสูตรภาคการเกษตร การลงมือฝึกปฏิบัติจริงในภาคสนามอย่างจริงจัง ทำให้เด็กหันมาสนใจและสมัครเรียนเพิ่มมากขึ้น