สายกินดึกควรพักก่อน! “โรคกรดไหลย้อน” เพื่อนตัวร้ายวัยทำงาน

9
sick woman with cough and throat infection at home self isolating and social distancing in quarantine lockdown during coronavirus covid 19 epidemic, sittinhg up in bed covering his face while coughing

หลายคนจึงคลายเครียดด้วยการกินของอร่อย โดยเฉพาะของหวานของมัน ส่วนบางคนไม่มีแม้แต่เวลาจะกิน เพราะกว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกมาก เลยต้องรีบกินแล้วเข้านอนทันที ซึ่งช่วงแรกก็ทำได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่นานวันเข้าก็รู้สึกแสบร้อนและแน่นหน้าอกขึ้นมา หรือบางทีก็รู้สึกขย้อนขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเสี่ยง “โรคกรดไหลย้อน”

ภาวะที่สารคัดหลั่งในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาสู่หลอดอาหาร และหากปล่อยไว้นานไม่รักษาให้ถูกวิธีอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ วันนี้ นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ระบบประสาท ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.วิมุต จะมาไข้ข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน พร้อมบอกวิธีการดูแลรักษาโรคกรดไหลย้อน เพื่อให้วัยทำงานอย่างเราห่างไกลจากโรคนี้

“โรคกรดไหลย้อน” คืออะไร
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease: GERD) คือภาวะการไหลย้อนของสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร กลับไปที่หลอดอาหาร โดยปกติสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ คือ กรดไหลย้อนที่เกิดภายในหลอดอาหาร เป็นประเภทที่พบได้ทั่วไป จะทำให้เกิดอาการแสบร้อน รู้สึกอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมา แน่นหน้าอก ส่วนอีกประเภทคือ กรดไหลย้อนที่เกิดนอกหลอดอาหาร ซึ่งพบในคนส่วนน้อย ส่งผลให้เกิดอาการไอเรื้อรัง สารเคลือบฟันมีปัญหา ภาวะหอบหืดตอนกลางคืน หรือภาวะกล่องเสียงอักเสบ นอกเหนือไปจากนั้นยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดอาหารไวเกิน ซึ่งทำให้มีอาการแบบเดียวกัน

พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยง “โรคกรดไหลย้อน”
ภาวะกรดไหลย้อนมักเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การกินอาหารแล้วนอนทันที เพราะในระหว่างการย่อย อาหารจะอยู่แค่ส่วนบนของกระเพาะอาหารเท่านั้น ก่อนจะลงไปส่วนล่างของกระเพาะอาหารเมื่อย่อยเสร็จ ซึ่งเมื่อเรานอนลงอาจทำให้อาหารในกระเพาะส่วนบนหลุดพ้นหูรูดขึ้นไปยังหลอดอาหารง่ายขึ้น ปัจจัยต่อมาคือความเครียด ซึ่งมีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวในทางเดินอาหารเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กระบวนการย่อยเปลี่ยนไปด้วย ทำให้กรดและอาหารอาจถูกดันย้อนขึ้นมา ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน เพราะน้ำหนักตัวส่วนเกินจะไปเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร ทำให้กรดหรืออาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปได้ง่ายขึ้น

“จะอายุเท่าไหร่ก็เป็นกรดไหลย้อนได้ แต่กลุ่มที่เจอบ่อยจะอยู่ในช่วงอายุ 17 – 40 ปี โดยเฉพาะวัยทำงานที่เจอกับความเครียดทุกวัน หรือกินดึกแล้วเข้านอนทันทีอยู่บ่อย ๆ ซึ่งหากเป็นแล้วปล่อยไว้ไม่รักษา ในระยะยาวจะทำให้หลอดอาหารอักเสบหรือมีแผล จากนั้นอาจทำให้เกิดเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะนำไปสู่โรคมะเร็งหลอดอาหารในที่สุด ยิ่งคนที่พึ่งเคยเป็นโรคกรดไหลย้อนในช่วงอายุ 50 – 60 ปี ก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น”

“โรคกรดไหลย้อน” ดูแลไม่ถูกวิธี เสี่ยงเป็นซ้ำสูง!
ภาวะกรดไหลย้อนไม่ใช่โรคเรื้อรัง และสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่คนที่มีภาวะกรดไหลย้อนสามารถเป็นซ้ำได้ถึง 60% หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ดังนั้นใครที่มีอาการเข้าข่ายภาวะกรดไหลย้อน แสบร้อนแน่นหน้าอก มีอาการขย้อน แนะนำให้เข้ามาตรวจคัดกรองกับแพทย์โดยตรง จะได้รักษาได้ถูกต้อง โดยการตรวจรักษาจะเริ่มจากการประเมินพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อวางแผนให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตเบื้องต้น

หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะใช้การส่องกล้องและการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างของหลอดอาหาร เพื่อวัดสิ่งที่ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารว่ามีค่ากรดหรือด่างเป็นอย่างไร จะได้วางแผนการรักษาสำหรับแต่ละบุคคลได้ตรงจุดมากขึ้น เมื่อทราบรายละเอียด แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการจ่ายยาที่เหมาะสมกับชนิดของสาเหตุที่เป็น เช่น เป็นกรดย้อน, น้ำดีหรือด่างย้อน หรือหลอดอาหารไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หรือในบางคนอาจใช้การผ่าตัด

นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท

“ทุกวันนี้คนเครียดกันมากขึ้น โดยเฉพาะวัยทำงานที่เครียดกับงานจนเป็นภาวะกรดไหลย้อนกันมาก ถึงแม้กรดไหลย้อนจะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และนานไปอาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นอยากให้ป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เลี่ยงของกินที่มีกรดสูงอย่างพวกเมนูรสจัด ผลไม้เปรี้ยว น้ำอัดลม หรืออาหารที่ไขมันสูงอย่างพวกของทอด และพยายามอย่ากินแล้วนอนทันที ก็จะช่วยป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้ ส่วนใครที่เป็นอยู่ แนะนำให้เข้ามารักษากับแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดและรักษาได้ถูกต้อง เข้าใจว่างานเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทุ่มเท แต่ร่างกายก็สำคัญไม่แพ้กัน อย่าลืมแบ่งเวลามาดูแลตัวเองให้ดี ร่างกายจะได้แข็งแรง พร้อมไปลุยงานต่อได้เต็มที่” นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท กล่าวทิ้งท้าย