อัพเดทที่เที่ยวชะอำ สายมูก็ใช่ สายกรีนก็ดี สุขทันที@เพชรบุรี

37

หากทะเลมีชีวิตจริง ๆ ชะอำก็คงเป็นชายหาดที่อารมณ์ดีเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เห็นแต่ความสุข เด็ก ๆ กระโดดโลดเต้นอย่างเริงร่า วัยรุ่นยกก๊วนกันมาเล่นน้ำ วัยเก๋าเดินยิ้มกริ่มด้วยแววตาเป็นประกาย ราวว่ามีความทรงจำดี ๆ มากมายเกิดขึ้นที่นี่

“ชะอำ” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบันก็ยังคงความงดงาม ใหม่ สดเสมอ โค้งหาดทรายที่ทอดยาว เป็นอาณาจักรแห่งความสุขที่ทุกคนเข้ามาแชร์ความสดใสกันได้ตลอดทั้งปีล่าสุดมีโอกาสกลับไปเยือนชะอำอีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการพักผ่อนที่คึกคัก หากยืนอยู่ที่จุดชมวิวชายหาดชะอำในช่วงเย็น ๆ  จะพบว่าเวิ้งชายหาดฝั่งซ้ายและขวา กลายเป็นแหล่งรวมความสนุกสนานขนาดใหญ่ ท่ามกลางสีสันละลานตา

สีสันความคึกคักชายหาดชะอำ

นายนิติ วงษ์วิชาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรีกล่าวว่า ชะอำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์ และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงหยุดยาววันเข้าพรรษาที่ผ่านมา มีอัตราการจองห้องพักถึง 80-85% ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังผู้ประกอบการทั้งในส่วนของที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า และบริการท่องเที่ยวต่าง ๆ

และในช่วงวันที่ 24-28 กรกฎาคม 2567 จะมีการจัดงานเทศกาลอาหาร ชะอำ-เพชรบุรี นำเสนออาหารที่สะท้อนเอกลักษณ์เพชรบุรีเมือง 3 รส ซึ่งเป็น Soft Power ของทางจังหวัด จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน  มาชม มาชิม อาหารเมืองเพชรบุรีที่มีอยู่อย่างหลากหลาย พร้อมเดินทางท่องเที่ยวด้วยความสุขใจ

อลังการวัดถ้ำแจง บูชาองค์พ่อปู่พญานาค

พ่อปู่พญาเพชรคีรี มหามุนี ศรีสุทโธนาคราช เป็นองค์พญานาคแห่งแรกของเพชรบุรี ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูงราว 31 เมตร ลำตัวเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 2 เมตร มีสีสันโดดเด่น ด้วยลักษณะของสีนิลปาล หรือสีเขียวปีกแมงทับ งดงาม

ตระการตาด้วยโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน สามารถเดินลอดผ่านได้ 9 ช่อง ปัจจุบันมีผู้เข้ามาสักการะขอพรอย่างไม่ขาดสาย

วัดถ้ำแจง

ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ท่องไปในวรรณคดีโบราณ วนอุทยานเขานางพันธุรัต

ชื่อของนางพันธุรัต อาจจะเป็นที่คุ้นชินจากวรรณคดีเรื่อง “สังข์ทอง”  โดยชื่อของ “วนอุทยานเขานางพันธุรัต” ก็มาจากวรรณคดีเรื่องนี้จริง ๆ ในตอนที่พระสังข์หลบหนีนางพันธุรัตจนเป็นเหตุให้นางต้องอกแตกตาย เพราะความรักในตัวพระสังข์ หากมองจากมุมไกล ๆ จะเห็นเทือกเขาที่ทอดยาวมองดูคล้ายคนนอนหงายอยู่ ซึ่งบางครั้งชาวบ้านก็จะเรียกว่า “เขานางนอน”

นอกจากรูปลักษณ์ของภูเขาแล้ว ภายในวนอุทยานยังมีเรื่องราวที่สอดคล้องกับวรรณคดี เป็นจุดเที่ยวชมในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว

จุดท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เชื่อมโยงเรื่องราวในวรรณคดี เริ่มต้นจาก “ศาลแม่นางพันธุรัต” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปจะเข้ามาสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ขอพรกันได้แทบทุกด้าน ยกเว้นเรื่องความรัก

“กระจกนางพันธุรัต” เป็นช่องเขาที่สามารถเดินผ่านได้ ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่นางพันธุรัตเลี้ยงดูพระสังข์เป็นลูก นางได้แปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อไม่ให้พระสังข์รู้ว่าเป็นยักษ์ นางจึงใช้ช่องกระจกแห่งนี้ส่องดูรูปร่างหน้าตา

“เมรุนางพันธุรัต” เป็นแท่งหินลักษณะคล้ายเมรุเผาศพ ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่นางพันธุรัตอ้อนวอนพระสังข์จนอกแตกตาย จึงได้ทำศพนางพันธุรัตที่นี่

3 จุดนี้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้น ที่ต้องเดินขึ้นบันไดในระยะที่ไม่ไกลมากนัก แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายก็มีขาสั่นและต้องแวะพักกันบ้าง เมื่อไปถึงจุดชมวิวด้านบน สามารถยิงกระสุนเมล็ดพันธุ์เพื่อเติมแต่งความเขียวชอุ่มของผืนป่า

ใครที่สนใจกิจกรรมนี้สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ ก่อนขึ้นเขาจะมีการสอนปั้นกระสุนเมล็ดพันธุ์ โดยมีส่วนผสมของดินเหนียว แกลบ ขุยมะพร้าว มูลสัตว์ และเมล็ดพันธุ์พืช อาทิ ตะโกป่า หางนกยูง คูน ฯลฯ ปั้นแล้วต้องนำไปตากแดดจัด ๆ อีก 2 รอบ ก่อนจะนำมาใช้งาน

ความน่าสนใจของวนอุทยานฯ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ด้วยสภาพทางธรณีวิทยาปรากฏให้เห็นหลักฐานว่าในอดีตกาลที่นี่เคยเป็นทะเลมาก่อน บริเวณลานกางเต็นท์จะมีกลุ่มหินที่จัดแสดงหลักฐานทางธรณีวิทยา เช่น แนวปะการังและพืชพันธุ์ทางทางทะเลที่อยู่ในชั้นหิน

วนอุทยานเขานางพันธุรัต และโครงการฯเขานางพันธุรัต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

โทร. 098 686 0989

โบราณสถานทวารวดีโคกเศรษฐี

ด้านหน้าทางเข้าวนอุทยานเขานางพันธุรัต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก หากใครเคยไปเยือน  “เมืองโบราณศรีเทพ” แล้วได้มาพบกับสถานที่แห่งนี้ จะรู้ได้ทันทีว่ามีความเกี่ยวข้องกัน

“โบราณสถานทวารวดีโคกเศรษฐี” หรือ “ทุ่งเศรษฐี”  เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโบราณ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำและชายฝั่งทะเลของเพชรบุรี เมื่อราวกว่าพันปีก่อน หรือพุทธศตวรรษที่ 12-13 สมัยทวารวดี โดยพื้นที่แห่งนี้ถือเป็นเส้นทางการค้าและการขนส่งที่สำคัญในอดีต ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและขุดค้นพบโบราณวัตถุต่าง ๆ และทำการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันเราสามารถมองเห็นเค้าโครงของสถูปโคกเศรษฐี ศาสนสถานสมัยทวารวดี องค์สถูปหักพังเหลือเพียงส่วนฐาน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 25 เมตร ยาว 25 เมตร สูง 5 เมตร วางตัวในแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของเทือกเขาจอมปราสาทอันเป็นส่วนหนึ่งของเขาเจ้าลายใหญ่หรือเทือกเขานางพันธุรัต

เยือนถ้ำโบราณกว่า 500 ปี วัดชะอำคีรี

อีกจุดท่องเที่ยวที่มีความสวยงามทรงมนต์ขลังเป็นอย่างยิ่ง คือ “วัดชะอำคีรี” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของชาวชะอำ มีความเงียบสงบ ร่มเย็น เข้ามาแล้วได้บรรยากาศของการผ่อนคลายอีกรูปแบบหนึ่ง

จุดที่น่าสนใจอยู่ที่ ถ้ำโบสถ์โบราณอายุกว่า 500 ปี สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา การจะเข้าชมต้องผ่านบันใดนาคสีทอง 108 ขั้น ขึ้นไปบนภูเขา ภายในถ้ำเป็นที่ประดิษฐานประธานและพระนอน บนผนังหินยังมีประติมากรรมที่น่าสนใจ รวมทั้งหินงอกที่มีรูปร่างคล้ายจระเข้

ออกจากถ้ำยังมีเส้นทางเดินชมวิว ผ่าน “ถ้ำรอดใบโพธิ์” (ถ้ำลอดใบโพธิ์) ที่มีรูปเหมือนใบโพธิ์จริง ๆ จากนั้นสามารถเดินต่อไปในเส้นทางธรรมชาติ ผ่านแนวผาหินอันงดงาม ก่อนจะลงยังทางออก โดยไม่ต้องวนกลับมาลงบันใดอีกรอบ

เลาะเส้นทางสายเปรี้ยวที่ Fresh-1 Lemon Farm

ความเปรี้ยวหอมลงตัวของเลมอน เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการร้านอาหารในปัจจุบัน แม้แต่คนโดยทั่วไป ก็หันมาใช้เลมอนในการปรุงอาหารมากขึ้น

อยากรู้จักเลมอน อยากชิมผลผลิตจากเลมอน หรืออยากจะเรียนรู้การปลูกเลมอน ก็ต้องไปที่ สวน Fresh-1 Lemon Farm บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

มาแล้วจะได้รู้ว่า จะปลูกเลมอนให้ได้ผลดกดังใจ ดูแลง่าย ต้องทำอย่างไร เพราะทางสวนใช้เวลาศึกษา ลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานาน

เดินชมสวนแล้วแวะมาดื่มน้ำเลมอนรสเปรี้ยวหวานหอมชื่นใจ กินแกล้มเค้กเลมอนนุ่ม ๆ  แล้วไปเลือกซื้อหาของฝากจากฟาร์ม เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเลมอน อาทิ เลมอนเชลโล่ เลมอนอบแห้ง ไซรัปเลมอน น้ำเมลอน เลมอนเค้ก ฯลฯ

ทะเลชะอำยังคงสดใส แถมยังได้ว้าว ๆ ๆ กับแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง อยากเติมพลังบวกเมื่อไหร่ ชวนกันไปชะอำ เที่ยวให้ใจฟูใจฉ่ำกันไปเลย

 ขอขอบคุณ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคกลาง ทริปสมุทรสงคราม-เพชรบุรี วันที่ 20-22 กรกฎาคม 2567