กลุ่มธุรกิจ TCP เผยรายงานความยั่งยืน จากการ “ลงมือทำ” ปลุกพลังเปลี่ยนผ่าน สู่ ESG ที่ยั่งยืน

16

กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดรายงานความยั่งยืน ประจำปี 2566 “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” เผยผลการดำเนินงานครอบคลุมทุกมิติความยั่งยืน ตามแนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) ด้วยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันเร่งขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 15% และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 5.71% พร้อมเดินหน้าจัด TCP Sustainability Forum 2024 ระดมพลังแลกเปลี่ยนสถานการณ์น้ำและการเตรียมพร้อมของไทย หนึ่งในวาระด่วนที่ต้อง “เร่งมือ” ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “ปี 2566 เป็นปีที่มีความท้าทายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ในต่างประเทศทั้งด้านพลังงาน โลจิสติกส์ และภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญคือ ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศผันผวนรุนแรงและเป็นปีที่โลกร้อนที่สุด สิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกหรือเป้าหมายต่างๆ ที่ทั่วโลกและไทยกำหนดไว้นั้น ต้องมาดูว่าจะทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้หรือไม่”

สราวุฒิ อยู่วิทยา

“เป็นที่น่ายินดีว่า เป้าหมายด้านความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP มีความคืบหน้าที่สำคัญหลายด้าน ทั้งการลงทุนในต่างประเทศที่ขยายไปควบคู่กับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero และการจัดการน้ำที่คืนน้ำให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่ใช้ในกระบวนการผลิต ตอกย้ำความสำเร็จในการเปลี่ยนจากพันธสัญญาสู่การลงมือทำ” นายสราวุฒิกล่าว

ขยายการลงทุนในต่างประเทศ ควบคู่กับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
กลุ่มธุรกิจ TCP มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในทุกที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับแนวคิด ESG
ด้านธรรมาภิบาล (Governance) ทั้งการกำกับดูแลกิจการอย่างรับผิดชอบ และการบริหารความเสี่ยง ในการเปิดโรงงานฐานการผลิตเรดบูลแห่งใหม่ในจีน มณฑลเสฉวน ด้วยงบลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งใช้สายการผลิตประสิทธิภาพสูง พร้อมมาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานระดับโลก (LEED Certification) และการเปิดโรงงานฐานการผลิตแห่งแรกในเนปาล ร่วมมือกับซาลาส เบเวอร์เรจ ติดตั้งเครื่องจักรที่มีมาตรฐานสูงสุดด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากกว่าครึ่งของที่ใช้ในโรงงาน

เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สู่เป้าหมาย Net Zero
ในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) กลุ่มธุรกิจ TCP ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ซึ่งในปี 2566 กลุ่มธุรกิจ TCPได้เป็น 1 ใน 16 องค์กร ที่ได้รับรางวัลระดับโดดเด่นจาก 77 องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 15% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2564 รวมทั้งใช้พลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 5.71% จากปี 2565

default

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มธุรกิจ TCP ยังได้รับการรับรองจากการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระทิงแดง เรดบูล เรดดี้ วอริเออร์ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ

บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในเครือทั้งหมดรีไซเคิลได้ 100% แล้ว
ปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในเครือกลุ่มธุรกิจ TCP สามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนคือทั้ง 100% พร้อมยกระดับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยยกเลิกใช้ขวดพลาสติก PET สี เปลี่ยนฉลากจากพลาสติก PVC เป็น PET ทั้งหมด ลดน้ำหนักพลาสติก PET ลง 5.7% และเปลี่ยนขวดแก้วกระทิงแดงจากขวดเหลี่ยมเป็นขวดกลม น้ำหนักลดลง 12% นอกจากนี้ยังนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในทุกกระบวนการของธุรกิจ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยในปี 2566 สามารถเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 430 ตัน

คืนน้ำให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมกว่า 5 เท่า ของน้ำที่ใช้ในการผลิต
กลุ่มธุรกิจ TCP ส่งเสริมการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2573 ผ่านโครงการสำคัญคือ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” เติมน้ำทั้งบนดินและน้ำใต้ดิน ในบริเวณ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำบางปะกง

“โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยสามารถคืนน้ำรวมกว่า 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ระหว่างปี 2562 – 2566 ซึ่งมากกว่า 5 เท่าของที่ใช้ในกระบวนการผลิตต่อปี สร้างประโยชน์แก่ชุมชมกว่า 42,000 ครัวเรือน ให้มีแหล่งน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรอย่างเพียงพอ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้เกษตรกร ตอบรับแนวคิด ESG ที่ส่งเสริมความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) และสังคม (Social) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย รวมถึงในบริเวณโรงงานผลิตหลักที่ จ.ปราจีนบุรี ที่มีบริหารจัดการน้ำด้วยหลัก 4Rs คือ Resource จัดสรรพื้นที่เก็บกักสำรองน้ำ Reduce อนุรักษ์การใช้น้ำ Reuse เพิ่มการนำน้ำวนกลับมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ และ Recycle นำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ในกิจกรรมนอกกระบวนการผลิต” นายสราวุฒิกล่าวเสริม

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้เตรียมความพร้อมจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าภายในปี 2568 ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำระดับสากล AWS (Alliance for Water Stewardship Standard)

เดินหน้าจัดสัมมนาใหญ่ ชูวาระเรื่อง “น้ำ”
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของ “น้ำ” กลุ่มธุรกิจ TCP จึงเตรียมจัดงานประชุมด้านความยั่งยืน TCP Sustainability Forum 2024 ในธีม “Water Resilience in a Changing Climate” โดยมีนักวิชาการ นักอนุรักษ์ ภาครัฐและเอกชน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และกระตุ้นเตือนถึงความเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันลงมือทำ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมของประเทศไทยที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ติดตามได้ทาง เฟซบุ๊ก TCP Group

“กลุ่มธุรกิจ TCP มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมขับเคลื่อนสู่ ESG ที่ยั่งยืน ที่ยิ่งทำได้เร็ว ก็ยิ่งดีต่อทุกฝ่าย ในยุคที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเร็ว ความยืดหยุ่นในการจัดการน้ำและรับมือกับอนาคต เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมให้เร็วที่สุด เพราะโจทย์อาจจะเปลี่ยนไปในแบบที่เราคาดไม่ถึง” นายสราวุฒิกล่าว