กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมอนามัย และสำนักบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย กระทรวงสาธารณสุข นำร่องศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน 16 แห่งทั่วประเทศ หลังกลุ่มวัยทำงานมีความเสี่ยงมากขึ้น พร้อมจัด 5 บริการที่เป็นการสร้างสุขภาพป้องกันโรคสำหรับวัยทำงานโดยเฉพาะ แบบเบ็ดเสร็จและผสมผสาน หวังให้มีสุขภาพดี เริ่มต้นในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. 61 นี้เป็นต้นไป
นายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มวัยทำงานดูแลสุขภาพของตนเองลดลง อาจเนื่องจากภาระงานมากและคิดว่าตนเองแข็งแรงดี ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพในกลุ่มวัยทำงาน จึงได้ร่วมดำเนินการจัดตั้ง”ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน” (Wellness Center) ที่มีคุณภาพและสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในการสร้างเสริมสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน เป็นการจัดคลินิก/พื้นที่บริการทางด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่เน้นประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) เข้ามาใช้บริการได้สะดวก ผู้มาใช้บริการไม่ต้องเป็นคนป่วย แต่เป็นคนที่มีสุขภาพดีหรือ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มาขอประเมินสุขภาพ และรับคำปรึกษาการดูแลได้ ซึ่งภายในศูนย์บริการมีบริการที่จัดให้แก่วัยทำงานทั้งหมด 5 บริการ ดังนี้ 1.การประเมินสถานะสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม 2.การคัดกรองความเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น คัดกรองโรคและความเสี่ยงสุขภาพต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อ ความเสี่ยงต่อการติดยาเสพติด และคัดกรองปัญหาสุขภาพจากการประกอบอาชีพ 3.การส่งเสริมสุขภาพผ่านการให้คำปรึกษา และการฝึกด้านต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหารที่พอดีเพื่อสุขภาพ ให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ เป็นต้น 4.การติดตามผลของการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อวางแผน ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเเต่ละบุคคล และ 5.การบันทึกข้อมูลภาวะสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามต่อเนื่อง
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า “ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน” จะเริ่มดำเนินการและให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป โดยจะเน้นการเข้าถึงได้ง่าย ครอบคลุม โดยเริ่มนำร่องจัดบริการในสถานพยาบาลทั้งสิ้น 16 แห่ง ใน 3 ระดับทั่วประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกรมควบคุมโรค 2 แห่ง ได้แก่ 1.สถาบันบำราศนราดูร และ 2.สถาบันราชประชาสมาสัย โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 6 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลสมุทรสาคร 2.โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ 3.โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก 4.โรงพยาบาลหนองคาย 5.โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทุบรี และ 6.โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลทัพทัน จ.อุทัยธานี 2.โรงพยาบาลนภาลัย จ.สมุทรสงคราม 3.โรงพยาบาลบางเลน จ.นครปฐม 4.โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 5.โรงพยาบาลชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี 6.โรงพยาบาลบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 7.โรงพยาบาลพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และ 8.โรงพยาบาลแปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422