วันที่ 30 ก.ย. ของทุกปี จะเป็นวันสุดท้ายของการทำงานโดยเฉพาะข้าราชการในประเทศไทย หลายคนยังมีความสุขกับการฉลองส่งท้ายชีวิตการทำงานตลอด 60 ปี บางคนเริ่มวางแผนชีวิตหลังเกษียณ เช่น เดินทางท่องเที่ยว วางแผนทำกิจกรรมที่ชอบ แต่ก็มีบางคนที่ยังกังวลใจว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณต่ออย่างไร? เมื่อไม่มีเงินเดือนอีกต่อไป
ปัจจุบัน จำนวนคนไทยมี 66 ล้านคน 20% เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน มีจำนวนกว่า 600,000 คนที่ดูแลกันเองได้ในครอบครัว หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.67% เท่านั้น ขณะที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 36.96% และมีถึง 10.32% หรือ 1.34 ล้านคน ที่อยู่เพียงตามลำพัง
จากรายงาน “คนไทยพร้อมแค่ไหนกับการเกษียณอายุ” ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ หรือ NRRI (National Retirement Readiness Index: NRRI) ในปี 2566 พบว่า ดัชนี NRRI ของประชากรไทยมีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 49.30 (จากคะแนนเต็ม 100) ปรับตัวลดลงจาก
ปี 2020 ที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.70 เมื่อพิจารณาดัชนีย่อยที่บ่งบอกถึงความมั่นคงทางด้านการเงิน (F-IRR) พบว่า คนไทยมีความมั่นคงทางด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำ โดยดัชนีย่อย F-IRR มีคะแนนเฉลี่ยเพียง 38.40 (ลดลงจากปี 2020 ที่มีค่าเฉลี่ยที่อยู่ 48 คะแนน) สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีความพร้อมต่อการเกษียณอายุลดลง
นอกจากนี้ จากผลสำรวจพฤติกรรมทางการเงินครัวเรือนไทย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2561 – 2565 พบว่าในปี 2565 มีคนเพียง 16% ที่วางแผนเก็บออมเพื่อการเกษียณและสามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ โดยมีสัดส่วนที่ลดลงจากปี 2563 อยู่ที่ 18% และปี 2561 ที่ 19% ขณะเดียวกัน คนที่ไม่ได้คิดหรือวางแผนออมเงินเพื่อเกษียณอายุเลยกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 19% (ปี 2565) จากปี 2563 อยู่ที่ 15%
จากข้อมูลดังกล่าวมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีก 3 ประการที่สะท้อนถึงความไม่พร้อมในการเกษียณอายุของคนไทย ได้แก่
1. กลุ่มคนที่เกษียณอายุแล้ว (อายุ 61 ปีขึ้นไป) ที่สามารถเก็บออมได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้ มีสัดส่วนเพียง 21–22% เมื่อเทียบกับคนในช่วงวัยเดียวกัน
2. กลุ่มคนที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บออมได้ตามแผนที่ตั้งใจ มีสัดส่วนสูงถึง 42–47% เมื่อเทียบกับคนในช่วงวัยเดียวกัน
3. สัดส่วนของคนในวัยใกล้เกษียณ (ช่วงอายุ 51–60 ปี) รวมถึงคนที่เกษียณอายุแล้ว ที่ยังไม่ได้คิดวางแผนเก็บออมเพื่อยามชราภาพเลย มีสัดส่วนสูงถึง 15–21% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนในช่วงวัยเดียวกัน
ปัจจุบัน แหล่งรายได้หลังเกษียณของคนไทยจะมี 3 กลุ่มหลัก
1. เบี้ยยังชีพชราภาพ ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้ ยกเว้นข้าราชการ โดยมีการจ่ายเป็นขั้นบันไดตามอายุ
2. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีเงินบำเหน็จบำนาญ ที่ได้ตามอายุราชการ รวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้ารายการ ซึ่งกลุ่มนี้สามารถออมเงินเพิ่มเติมผ่านกองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือซื้อประกันแบบบำนาญเพิ่มเติมได้
3. แรงงานในระบบและนอกระบบ จะได้เงินจากกองทุนประกันสังคมเป็นหลัก กลุ่มแรงงานในระบบจะมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติม และสามารถออมเพิ่มเพิ่มเติมผ่านกองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือซื้อประกันแบบบำนาญ หรือออมในกองทุนการออมแห่งชาติ
จะเห็นได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมในการเกษียณ จะอาศัยเพียงเบี้ยคนชราจากรัฐบาลคงไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นควรต้องวางแผนการออมตั้งแต่วันนี้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงมองหาทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ที่สำคัญต้องมีวินัย เพื่อไปสู่เป้าหมายการเกษียณอย่างสำราญได้ในบั้นปลายของชีวิต