ทีเส็บ โชว์ศักยภาพภาคตะวันออก จัดกิจกรรมแฟมทริป นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการไมซ์ และสื่อมวลชน สัมผัสเส้นทางในพื้นที่อีอีซี เดินสายจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มุ่งสร้างการรับรู้สินค้าและบริการด้านไมซ์ในภูมิภาคตะวันออก เชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน แหล่งเรียนรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับการจัดงานไมซ์ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
ภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออก อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของนักเดินทางท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุน โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกจะนำไปสู่การกระจายความเจริญและรายได้สู่ชุมชนในภูมิภาค อีกทั้งยังตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ไมซ์ 20 ปี รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศด้วย
“ทีเส็บ ดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2566 มีงานไมซ์เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งงานไมซ์ในประเทศและงานไมซ์นานาชาติจำนวน2,261 งาน สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกกว่า 10,979 ล้านบาท”
ภูริพันธ์ กล่าวต่อว่า การเดินหน้าโชว์ศักยภาพภาคตะวันออกของทีเส็บในปีนี้ ได้จัดกิจกรรมแฟมทริป นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการไมซ์ และสื่อมวลชน ร่วมสัมผัสเส้นทางในพื้นที่อีอีซี ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2567 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการด้านไมซ์ในภูมิภาคตะวันออก ถึงความพร้อมในการรองรับการจัดงานไมซ์ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
กิจกรรมแฟมทริปในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “FAM TRIP: One More Step of a Prosperous EEC ก้าวไปอีกขั้น…มุ่งสู่ความสำเร็จ” โดยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการไมซ์ และสื่อมวลชนกว่า 30 ราย จะได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านความหลากหลายของอัตลักษณ์เชิงพื้นที่และสัมผัสกับประสบการณ์ตรงที่มีคุณค่าทั้งในด้านความพร้อมเชิงโครงสร้างของภาคตะวันออก ความพร้อมของการจัดงานไมซ์ รวมถึงการสัมผัสกับสินค้าและการใช้บริการไมซ์ในพื้นที่ดังกล่าว
เปิดประตู่สู่ภาคตะวันออก
ในการเดินทางครั้งนี้ เริ่มต้นทริปด้วยการแวะ “ตั้ง เซ่ง จั้ว แสนภูดาษ” ร้านขนมเปี๊ยะของฝากในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นไชนีส ซึ่งออกแบบโดยอาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ พร้อมการเรียนรู้และเข้าใจวิธีการทำขนมเปี๊ยะ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาลองทำขนมเปี๊ยะได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การนวดแป้ง ใส่ไส้ ปั้นแป้ง พิมพ์ลาย จากนั้นทางร้านจะนำไปอบราว 30 นาที
จากนั้นเข้าการเยี่ยมชม “EEC Automation Park” มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมศึกษาดูงานสายการผลิต (Model Line of Smart Factory) ระบบจัดเก็บอัตโนมัติ (Automated Storage/Retrieval System) และโรงประลองต้นแบบวิศวกรรม (Fabrication Laboratory)
ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน หรือจะใช้บริการห้องประชุมซึ่งมีให้เลือกหลากหลายขนาด
แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา
บรรยากาศยามเย็นที่แสนสดชื่นในพัทยา ท่ามกลางความคึกคักของนักท่องเที่ยว หนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน อยู่ที่ “โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา” ที่มีห้องจัดเลี้ยงประชุมสัมมนาหลากหลายขนาด
โดยมีกิจกรรมเพียบพร้อมสำหรับทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะขึ้นไปชมวิวท้องทะเลยามพระอาทิตย์ตก ณ Sky Pool การรับประทานบุฟเฟ่ต์มื้อเย็น ณ Orbitz Restaurant ชั้น 6 หรือจะออกไปสัมผัสแสงสีที่จัดแสดง ณ จุดต่าง ๆ รวมทั้งชมการแสดง Mapping Show บนอาคารด้านหน้าโรงแรม
Mini EEC Fair 2024
คืนแรกของการเดินทาง เข้าพักที่ “โรงแรม เดอะซายน์ พัทยา” อีกหนึ่งสถานที่สำหรับการจัดประชุมสัมมนาที่ได้รับความนิยม โดยในช่วงเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม 2567 มีการจัดงาน Mini EEC Fair 2024 “EEC Opportunities Investment Solutions Towards Sustainable Locals” ณ ห้องประชุม Fidella Grand Ballroom โรงแรม The Sign พัทยา
“Mini EEC Fair 2024” ถือเป็นงานสำคัญในการนำเสนอข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ไฮไลต์สำคัญภายในงาน ประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ “EEC Opportunities: Investment Solution Towards Sustainable Locals” โดย ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาฯ อีอีซี การเสวนา “บทบาทภาคการเงินในการสนับสนุนการลงทุนใน อีอีซี” โดยผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินชั้นนำ การนำเสนอสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching)
ในช่วงบ่าย เดินไปเยี่ยมชม “ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง–พัทยา” (U-TAPAO Rayong Pattaya International Airport) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสนามบินที่มีศักยภาพในการรองรับผู้ใช้บริการในปัจจุบันและอนาคต
โรงแรม โนโวเทล สตาร์ ระยอง
ช่วงเย็นมุ่งหน้าสู่ “โรงแรม โนโวเทล สตาร์ ระยอง” ที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวด้วยความสะดวกสบาย มีห้องประชุมสัมมนาที่ได้มาตรฐานหลากหลายขนาด
จากนั้นรับประทานอาหารเย็น ณ ห้องอาหาร Food Exchange ก่อนจะแยกย้ายไปพักผ่อน ณ โรงแรม โนโวเทล สตาร์ ระยอง
เส้นทางไมซ์เชื่อมโยงชุมชน
นอกจากการนำเสนอศักยภาพของอีอีซี รวมทั้งพื้นที่การจัดประชุมสัมมนาที่มีความพร้อมในสถานที่ต่าง ๆ แล้ว ทริปนี้ยังเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน ที่ “ชุมชนบ้านทะเลน้อย” สัมผัสวิถีการปลูกผักกระชับ ผักพื้นถิ่นบ้านทะเลน้อย พร้อมการทำอาหารกับเชฟชุมชน เมนูยำผักกระชับ ร่วมรับประทานอาหารเมนูท้องถิ่น ทั้งปลาแดดเดียวทอด แกงส้มผักกระชับ ต้มข่าอ่อน ซึ่งเป็นอีกผลผลิตที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนแห่งนี้
การเข้าชมการทำ “ปลาแดดเดียว” อีกหนึ่งผลผลิตของคนในหมู่บ้าน ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังได้เดินทางไป “วัดราชบัลลังก์” ฟังตำนานพระเจ้าตาก และกราบพระพุทธรูปองค์หวาย
สวนป่าวังจันทร์
“สวนป่าวังจันทร์” จ.ระยอง เป็นสถานที่ศึกษาดูงานที่ให้ทั้งความรู้และความสดชื่นต่อผู้มาเยือน เริ่มต้นจาก อาคารบ้านต้นไม้ ริมบึงน้ำขนาดใหญ่ท่ามกลางความเขียวขจี
อาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งของนิทรรศการปลูกป่า โดยได้รวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์การดำเนินโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ทั่วประเทศของ ปตท. ไว้อย่างครบถ้วน ที่นี่ยังมีห้องประชุมที่มองเห็นวิวผืนน้ำและป่าเขาได้อย่างงดงามอีกด้วย
เขตนวัตกรรม EECi
ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชม “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi)” เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของไทย ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการขยายขนาดงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ระบบอัจฉริยะ เป็นต้น สถานที่แห่งนี้เป็นอีกแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีห้องประชุมสัมมนาและการจัดนิทรรศการที่พร้อมรองรับได้ถึง 200 ที่นั่ง
โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวต้อนรับ และ ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม (IND) กล่าวบรรยายพร้อมนำชมสถานที่
พื้นที่ในเขตอีอีซี ถือเป็นเส้นทางไมซ์ที่มีความโดดเด่น ทั้งด้านแหล่งศึกษาดูงาน การจัดงานประชุมสัมมนาหรือนิทรรศการ พรั่งพร้อมด้วยที่พักและร้านอาหารท่ามกลางบรรยากาศอันผ่อนคลาย สามารถเชื่อมโยงสู่การสัมผัสวิถีชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์ นับเป็นศักยภาพที่ครบเครื่อง รองรับการจัดงานไมซ์ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน