“ภูเก็ต” ประกาศพร้อมชิงเจ้าภาพจัดงาน InterPride 2025

9

ทีเส็บ ดัน “ภูเก็ต” ชิงเจ้าภาพจัดงาน  InterPride World Conference 2025 เผยมีความพร้อมทุกมิติ ทั้งสนามบินนานาชาติ เที่ยวบินตรง ภาครัฐสนับสนุน 100% เมืองเปิดรับความหลากหลายเท่าเทียม ต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ และทุกกลุ่มจากทั่วโลกตามนโยบาย Tourism Hub พร้อมดันไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยว Inclusive Destination หวังปูทางคว้าเจ้าภาพจัดงานใหญ่ “WorldPride 2030” ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มจีดีพีของประเทศได้ถึง 8.9 พันล้านบาท  

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า มติ ครม. สั่งการให้ ทีเส็บ ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เป็นตัวแทนประเทศไทยในการจัดทำข้อเสนอเป็นเจ้าภาพการจัดงานต่างๆ (Big Event) โดยหนึ่งในงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพดึงงานเข้ามาจัดในประเทศไทยคืองาน InterPride World Conference 2025 โดยมีเป้าหมายประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ว่าไทยเป็นประเทศที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกในฐานะศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub) และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยว Pride Friendly ระดับโลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ ต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ชื่นชอบการเดินทาง และมีระยะเวลาพำนักยาวกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

 “ทีเส็บ สนับสนุนการเสนอตัวให้ไทยเป็นเจ้าภาพงาน InterPride World Conference 2025 เพื่อเป็นก้าวแรกในการก้าวสู่การชิงเป็นเจ้าภาพจัดงาน WorldPride 2030 ต่อไปในปี 2573 ซึ่งจากการคัดเลือกของ Pride Community 3 จังหวัดที่เสนอตัวเข้ามา ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ปรากฏว่าภูเก็ตได้รับการโหวตให้เป็นผู้แทนในการจัดงาน โดยจะตัดสินว่าประเทศใดได้เป็นเจ้าภาพในเดือนมกราคม 2568 ที่จะถึงนี้”

นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month เพื่อเป็นโอกาสในการส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว Pride Friendly และการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2030 ในปี 2573 ที่ประเทศไทยต้องมีการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ต่อไป

“Pride Month 2024 ที่ผ่านมาเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศที่ยิ่งใหญ่ มีกิจกรรมมากมายที่สร้างสีสัน ความบันเทิง เช่น การเดินขบวนพาเหรด การแต่งตัว นิทรรศการศิลปะ การแสดงคอนเสิร์ต และการประชุมและสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ”

โดยทุกงานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เห็นได้จากมีนักการเมืองมากมายเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ขณะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ.. ได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่เปิดกว้างให้คู่รักหลากหลายทางเพศ หรือคู่รัก LGBTQ+ สมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการลดช่องว่างของความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติทางเพศ

“สิ่งสำคัญของการไปเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพ WorldPride 2030 ประเทศไทยต้องทำให้เห็นว่าเรามีความเคลื่อนไหว มีกิจกรรมและมีการยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง มีการปฏิรูปทางกฎหมาย การเพิ่มอำนาจให้กับชุมชน LGBTQ+ และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทีเส็บจึงได้จัดทำนโยบายให้การสนับสนุนกิจกรรมไมซ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Diversity, Equity และ Inclusivity เพื่อเตรียมเสนอประเทศไทยเป็นเจ้าภาพWorldPride 2030 โดยมีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนไพรด์ของไทย และเชื่อมโยงกับเครือข่ายไพรด์ระดับโลก รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานระดับโลก” นายจิรุตถ์กล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากประเทศไทยสามารถคว้าการจัดงานนี้มาได้ จะมีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทยนับล้านคน โดยระยะเวลาการจัดงานอยู่ในช่วง 4 สัปดาห์ของการจัดงาน หรือสามารถจัดกิจกรรมหลายเดือนหรือตลอดทั้งปี ประเมินว่างาน WorldPride 2030 จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างมากจากการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศไทย ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย และจะช่วยเพิ่มจีดีพีของประเทศไทยได้สูงถึง 8.9 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าการท่องเที่ยวทั่วโลกของคนกลุ่มนี้มีมูลค่าประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 ด้าน นายสมพล สิทธิเวช หรือ “วิกกี้” รองประธานกลุ่มอันดามันพาวเวอร์ ภูเก็ต ผู้ร่วมก่อตั้งและจัดงาน Phuket Pride และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการผลักดันให้ภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน InterPride World Conference 2025 กล่าวเสริมว่า งานดังกล่าวแสดงถึงความร่วมมืออันเข้มแข็งของชุมชน LGBTQ+ ของไทย เพราะการเสนอตัวต้องเป็นในนามองค์กรชุมชน โดยมีทีเส็บเป็นผู้สนับสนุนหาข้อมูลในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่จังหวัดภูเก็ตเองก็มีความในทุกมิติ เช่น มีสนามบินนานาชาติ มีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ ภาครัฐสนับสนุน 100% รวมถึงเป็นเมืองที่เปิดกว้างต้อนรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหากภูเก็ตสามารถแข่งขันชนะเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ได้ จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงอย่างมหาศาล โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนชุมชนความหลากหลายทางเพศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะเป็นประกาศนียบัตรให้ประเทศไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ต่อไป