ทำความรู้จัก “เซลล์อักเสบ” มัจจุราชร้าย ทำลายกระดูกสันหลัง

13

ในปัจจุบันหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาปวดหลัง ไม่ว่าจะเป็นจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน การยกของหนัก หรือ แม้กระทั่งการก้มหน้าเล่นมือถือเป็นเวลานาน อาการปวดเหล่านี้ อาจดูเหมือนเรื่องธรรมดา แต่ที่จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจาก “เซลล์อักเสบ” ซึ่งสามารถทำลายกระดูกสันหลังและเนื้อเยื่อรอบ ๆ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดูแลให้ถูกวิธี

นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ เผยว่า เซลล์อักเสบ (Cellular Inflammation) คือ กระบวนการที่ร่างกายตอบสนองต่อการบาดเจ็บ การใช้งานมากเกินไป หรือ การติดเชื้อ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะส่งสารเคมีอย่างไซโตไคน์ (Cytokines) และพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) มายังบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิด อาการบวม แดง และเจ็บปวด กระบวนการนี้ช่วยให้เนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายได้รับการซ่อมแซมและป้องกันการติดเชื้อ หากปล่อยไว้นาน จนเรื้อรังจะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อเสียหายมากขึ้น เกิดการสะสมของแคลเซียม และทำให้เกิดกระดูกงอก ซึ่งจะนำไปสู่การกดทับเส้นประสาท

โดยพฤติกรรมเสี่ยง “เซลล์อักเสบ” ในกระดูกสันหลัง ว่าการใช้ชีวิตประจำวันมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการอักเสบในกระดูกสันหลัง คือ การนั่ง หรือ ยืนท่าเดิม เป็นเวลานาน การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ การก้มหน้าเล่นมือถือ หรือ การยืนในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังเกิดการตึงเครียดและบาดเจ็บซ้ำ ๆ การใช้งานกล้ามเนื้อเกินกำลัง เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้รับความเสียหาย และ ภาวะข้อกระดูกสันหลังเสื่อม การเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูก ข้อต่อ ทำให้เกิดการเสียดสีของข้อต่อที่กระดูกสันหลัง ซึ่งจะกระตุ้นการอักเสบและอาการปวดเรื้อรัง เป็นต้น

การยกของหนัก หรือ การนั่งในท่าเดิมๆ เกิน 2 ชั่วโมง ทำให้กระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากเกินไป (Overload) และมีการกดทับ จนเกิดอาการเสื่อมและอักเสบ เนื่องจากกระดูกสันหลังไม่ได้ถูกออกแบบ มาเพื่อรับน้ำหนักส่วนเกิน หากเปรียบเทียบกับนักยกน้ำหนัก จากที่เคยยกได้ 10 กิโลกรัม เปลี่ยนมายก 100 กิโลกรัม ร่างกายจะไม่สามารถรับน้ำหนักส่วนเกินได้ทันที

นพ.ชุมพล คคนานต์

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยที่ถูกต้องมีความสำคัญ ต่อการทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหลัง เช่น การทดสอบทางกายภาพ หรือ การใช้เครื่อง MRI หรือ เอกซเรย์เพื่อดูโครงสร้างของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก และเนื้อเยื่อรอบ ๆ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

ปัจจุบันการนำ เทคโนโลยีที่ทันสมัย มารักษาผู้ป่วย ที่มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ เรื้อรัง หรือ ปวดต้นคอท้ายทอย มานาน แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอทางด้านหลัง ด้วยเทคนิค PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression) เพื่อการรักษา แต่หากหมอนรองกระดูกส่วนคอ เกิดการปลิ้น อย่างรุนแรงกดไขสันหลัง หรือ เสื่อมสภาพ แพทย์จะเลือกใช้เทคนิค Endoscopic ACDF เพื่อการผ่าตัดหมอนรองกระดูกส่วนคอ ด้วยกล้องเอ็นโดสโคปแบบแผลเล็ก เข้าไปในช่องว่างภายในกระดูกคอ นำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกมา

ขณะที่ ผู้ป่วยที่มีอาการโพรงเส้นประสาทกระดูกส่วนหลัง ส่วนเอวตีบแคบ หรือ หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมา การรักษาด้วยเทคนิค PSLD เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดการกดทับเส้นประสาท โดยไม่ต้องผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ เนื่องจากแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กเพียง 0.5 ซม. ที่ผิวหนังบริเวณหลัง แล้วสอดกล้องเอ็นโดสโคปเข้าไปยังจุดที่มีปัญหา และเลือกตัดเฉพาะส่วนที่กดทับเส้นประสาท

การป้องกันและดูแลหลังการรักษา
• ปรับท่านั่งและท่ายืน ในท่าที่ถูกต้อง โดยให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรงและพยายามพักเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง

• ออกกำลังกาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังและแกนกลางลำตัว (Core Muscles) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บ เช่น การว่ายน้ำ หรือ เล่นพิลาทิส (Pilates)

• นวดและกายภาพบำบัด ใช้การนวดและกายภาพบำบัดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ลดการตึงเครียด และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

นพ.ชุมพล ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ประชากรไทยในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น และเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ที่เกิดจากกระบวนการเสื่อมถอยในวัยสูงอายุ และเริ่มพบผู้ป่วยในคนอายุน้อย ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังมากขึ้น จากพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิต เช่น การนั่งผิดท่า การนั่งนาน หรือ ประสบอุบัติเหตุถูกกระแทกแรงๆ ยกของหนัก หรือการเล่นกีฬาที่หักโหมจนเกินไป

ข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลเอส สไปน์ พบว่า ได้ทำการรักษาผู้ป่วยที่เข้ามารักษาโรคกระดูกสันหลังด้วยวิธีการผ่าตัดมากกว่า 10,000 ราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะเน้นการรักษาโรคที่ตรงจุด และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ