TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 3 เจาะลึกเศรษฐกิจหมุนเวียนในธรรมชาติ

9

TCP Spirit ปลูกจิตสำนึกในการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติในคนรุ่นใหม่รักษ์โลก ผ่านคณะเศษสร้าง ปี 3 “เฮียนธรรมชาติหมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน” ณ จังหวัดบุรีรัมย์ มอบประสบการณ์เรียนรู้และลงมือทำผ่านห้องเรียนวัฏจักรทางชีวภาพ การหมุนเวียนทรัพยากรในชุมชน และการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้อาสาสมัครนำความรู้ไปปรับใช้ในชุมชน เพื่อส่งต่อพลังการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ดียิ่งขึ้น

TCP Spirit ปี 2567 ต่อยอดองค์ความรู้และสานต่อบทเรียนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเข้มข้นให้กับอาสาคนรุ่นใหม่ คณะเศษสร้าง ปี 3 ได้ไปสัมผัสวัฏจักรทางชีวภาพ (Biological Cycle) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบที่อยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล ซึ่งอาสาจะได้มาสัมผัสและเกิดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่มีการหมุนเวียนและควรได้รับการฟื้นฟู (Regenerate) เพื่อสร้างสมดุลในโลกที่กำลังวิกฤต

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “TCP Spirit มุ่งปลูกฝังการรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติผ่านคณะเศษสร้าง ปี 3 ด้วยการเรียนรู้แบบลงมือทำจริงในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่ตั้งใจพาอาสารุ่นใหม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด กิจกรรมนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้อาสาได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชุมชน พร้อมทั้งส่งต่อพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงให้กับคนรอบข้างและสังคม เพื่อร่วมกันรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้โลกของเราดียิ่งขึ้น”

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา

เปิดไฮไลต์ห้องเรียนธรรมชาติ
TCP Spirit เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการลงมือทำในห้องเรียนธรรมชาติ สัมผัสกับความหลากหลายของระบบนิเวศและชุมชนต้นแบบ เพื่อให้อาสาเกิดความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

• พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาสาจะได้สำรวจและเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บและช่วยหมุนเวียนน้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง วิกฤตขาดแคลนน้ำ และสร้างความมั่นคงทางน้ำให้ชุมชน และที่แห่งนี้ยังแสดงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ เห็นได้จากการกลับคืนของนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่สูญหายไปหลายสิบปี

• นกกระเรียนคืนถิ่น หลังสูญพันธุ์ไปแล้ว 50 ปี อาสาจะได้เห็นด้วยตาตัวเองจากพื้นที่โครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ที่ได้ความร่วมมือของชุมชนช่วยปกป้องฟื้นฟู และสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ให้นกกระเรียนดำรงชีวิตอยู่ได้ พร้อมลงมือปลูกหญ้าแห้วซึ่งเป็นแหล่งอาหารของนกกระเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนในระบบนิเวศ

• เกษตรอินทรีย์ ดีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต และลดคาร์บอนจากการใช้เครื่องจักรและสารเคมี โดยอาสาจะได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตีข้าว ฝัดข้าว และเพาะต้นกล้าด้วยตัวเอง

• ทอผ้าไหม ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เปิดประสบการณ์การทอผ้าไหมกับชุมชนต้นแบบบ้านหัวสะพาน ที่ทอผ้าโดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยจากขี้วัวและฟางเพื่อคงสภาพดิน ช่วยให้หนอนไหมกินใบหม่อนที่สามารถปลูกซ้ำได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่ได้ในกระบวนการผลิต และแปรรูปรังไหมและหนอนไหม

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และครูใหญ่คณะเศษสร้าง เล่าถึงบทเรียนภาคต่อของเศรษฐกิจหมุนเวียนในครั้งนี้ว่า “เหล่าอาสาจะได้เรียนรู้วัฏจักรชีวภาพที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ ถิ่นอาศัยของสัตว์นานาชนิดและนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ และปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ จัดการน้ำ และสร้างแหล่งอาหาร ด้วยความร่วมมือกันของนักอนุรักษ์และคนในชุมชนที่เข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยอาสาจะได้เข้าไปสัมผัสและลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบยั่งยืน และการทอผ้าไหมที่ไม่ทิ้งของเสีย เพื่อให้เข้าใจวิธีการสร้างการหมุนเวียน การซ่อมแซม และฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสมดุลและความยั่งยืนของโลก”

ตลอดระยะเวลา 3 ปี คณะเศษสร้างได้จุดประกายคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเชื่อมโยงความรู้สู่การลงมือทำ เพื่อสานต่อภารกิจของ TCP Spirit ในการปลุกพลังเครือข่ายอาสารักษ์โลก ที่จะช่วยส่งต่อสู่ชุมชนและสังคมในวงกว้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีที่ขึ้นและยั่งยืน ตอกย้ำเป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” ของกลุ่มธุรกิจ TCP