“อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์” ให้ความสำคัญสภาพแวดล้อมทางทะเล

10

“อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์” ขอเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเล จัดกิจกรรมปล่อยเต่าทะเล พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการอนุบาลพันธุ์เต่าทะเล หวังช่วยเพิ่มประชากรเต่าในธรรมชาติให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยรักษาสภาพสมดุลของระบบนิเวศ

นางกิตยาภรณ์ ชัยถาวรเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด หรือ ILC ผู้นำด้านธุรกิจ Cosmetic & Personal Care ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มุ่งมั่นพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมความงาม ด้วยการผลิตเครื่องสำอางคุณภาพชั้นเยี่ยมตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ผู้บุกเบิกด้านการผลิตเครื่องสำอางแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดให้บริการมานานถึง 55 ปี และมีนโยบายดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เปิดเผยว่า จากปัญหาขยะในทะเลที่มีผลทำให้สัตว์ทะเลจำนวนมากต้องเสียชีวิตหรือพิการจนไม่สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ โดยเฉพาะเต่าทะเลที่มีอัตราการเกิดต่ำ ทำให้จำนวนเต่าทะเลเริ่มลดน้อยลง ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของเต่าทะเล จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จัดกิจกรรมปล่อยเต่าทะเล ภายใต้โครงการ “หาดสวยทะเลใสด้วยมือเรา มอบชีวิตใหม่ให้เต่า สู่สีสันท้องทะเลไทย”

เต่าทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตที่สืบเชื้อสายมานานนับล้านปี มีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยในประเทศไทย มีเต่าทะเลทั้งสิ้น 5 สายพันธุ์ ได้แก่ เต่ากระ เต่าตนุ เต่าหญ้า เต่ามะเฟือง และเต่าหัวค้อน เต่าทะเลมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก ทั้งในบทบาทของผู้แพร่ขยายความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเล เนื่อง จากบนหลังของเต่าทะเล เป็นที่อยู่ของเชื้อราและตะไคร่ชนิดต่างๆ อีกทั้งเต่าทะเล มีพฤติกรรมการเดินทางเป็นระยะทางไกล ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยเกาะอยู่บนหลังของเต่าทะเลสามารถขยายพันธุ์ไปยังระบบนิเวศทางทะเลแหล่งใหม่ ทำให้เกิดนิเวศทางทะเลที่มีความหลากหลายขึ้น

นอกจากนี้ พฤติกรรมการกินของเต่าทะเล ยังช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศได้ โดยเต่าทะเลบางชนิด เช่น เต่ามะเฟือง มีพฤติกรรมชอบกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร ซึ่งช่วยการฟื้นตัวของปลาในทะเล เพราะแมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ล่าไข่ปลาเป็นอาหาร หากมีปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลให้ตัวอ่อนขนาดเล็กไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ทำให้ประชากรปลาฟื้นตัวได้ยาก นอกจากเต่ามะเฟืองแล้ว เต่ากระยังเป็นเต่าอีกประเภทหนึ่งที่ช่วยสร้างสมดุลทางทะเล เพราะเต่ากระมีอาหารโปรด คือ ฟองน้ำทะเล ทำให้สามารถควบคุมปริมาณฟองน้ำทะเลไม่ให้มีมากเกินไป จนมาแทนที่ปะการัง และทำให้โครงสร้างของปะการังและระบบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไป

“แม้ว่าเต่าทะเลจะมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ และยังสร้างคุณค่าให้กับธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ไปได้ การที่มนุษย์ไปรุกรานระบบนิเวศชายฝั่ง รวมถึงการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล อีกทั้งปัญหาเต่าเสียชีวิตหรือพิการจากขยะในท้องทะเล ประกอบกับปริมาณการขยายพันธุ์ของเต่าทะเลเองที่มีน้อยลง ซึ่งหากไม่มีการดูแลตรงส่วนนี้ เต่าทะเลอาจจะหายไปจากท้องทะเลได้ในวันหนึ่ง” นางกิตยาภรณ์กล่าว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ILC จึงได้จัดกิจกรรม “หาดสวยทะเลใสด้วยมือเรา มอบชีวิตใหม่ให้เต่า สู่สีสันท้องทะเลไทย” ขึ้น ณ เกาะมันใน ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ด้วยการปล่อยเต่าทะเลจำนวน 60 ตัว เพื่อให้เต่าทะเลเหล่านี้ ได้กลับคืนสู่ธรรมชาติไปสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ และเพื่อให้การอนุรักษ์เต่าทะเลไทย สามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เต่าทะเลและท้องทะเลไทยยังคงความสมดุลเพื่ออยู่คู่กับเราตลอดไป

พร้อมกันนี้ ยังได้มอบถังไฟเบอร์จำนวน 12 ชุด และหลังคา ให้แก่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก ปากน้ำประแส หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เพื่อใช้ในการดูแลและอนุบาลลูกเต่าทะเล หรือเต่าทะเลที่บาดเจ็บ ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป โดยมีนายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เป็นผู้รับมอบ

โครงการ “หาดสวยทะเลใสด้วยมือเรา มอบชีวิตใหม่ให้เต่า สู่สีสันท้องทะเลไทย” เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อร่วมส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เพิ่มปริมาณประชากรเต่าทะเลให้ยังคงสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศท้องทะเล เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน