ชมประวัติศาสตร์แห่งเรือนเวลาชั้นสูง “From Le Brassus to Bangkok” โดยโอเดอมาร์  ปิเกต์

101

โอเดอมาร์  ปิเกต์ (Audemars Piguet) จัดแสดงประวัติศาสตร์เรือนเวลาครั้งยิ่งใหญ่ส่งตรงจากเลอ บราซู สู่กรุงเทพมหานคร กับนิทรรศการ “From Le Brassus to Bangkok”

ในวันที่ 8-17 มิถุนายน 2561 ที่จะถึงนี้ โอเดอมาร์ ปิเกต์ สุดยอดแบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เตรียมส่งตรงความล้ำค่าระดับตำนานสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับครั้งแรกของการเผยตัวตนและประวัติศาสตร์อันยาวนานผ่านนิทรรศการเรือนเวลาเต็มรูปแบบภายใต้ชื่อ “From Le Brassus to Bangkok” ณ ชั้น G ลานเอเทรี่ยม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี

แบบจำลอง 3 มิติของนิทรรศการ “From Le Brassus to Bangkok”  รูปแบบอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ในภายหลัง

“From Le Brassus to Bangkok” นิทรรศการที่บอกเล่าการเดินทางของโอเดอมาร์ ปิเกต์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์กว่า 143 ปี และจิตวิญญาณอันทุ่มเทต่อศาสตร์การประดิษฐ์เรือนเวลาชั้นสูงในแต่ละยุคสมัย ร่วมด้วยโชว์เคสผลงานชิ้นพิเศษที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างทรงพลัง รังสรรค์ขึ้นโดย “อริญชย์ รุ่งแจ้ง” ศิลปินร่วมสมัยเชื้อสายไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับเกียรติร่วมงานกับโอเดอมาร์ ปิเกต์ อย่างเป็นทางการ

อริญชย์ รุ่งแจ้ง

ภายในงานแบ่งการจัดแสดงเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนต้นกำเนิดของศาสตร์แห่งการผลิตนาฬิกาชั้นสูงอย่าง “วัลเลย์ เดอ ฌูซ์” (Vallée de Joux) ที่เสมือนพาคุณย้อนเวลาสู่จุดเริ่มต้นของแบรนด์โอเดอมาร์ ปิเกต์ โซนวิวัฒนาการเรือนเวลา ที่หยิบเอานวัตกรรมชั้นเลิศมาหลอมรวมกับประเพณีการรังสรรค์เรือนเวลายุคก่อนได้อย่างน่าสนใจ

ร่วมด้วยสุดยอดเรือนเวลารุ่นประวัติศาสตร์กว่า 50 เรือน ที่แต่ละชิ้นถูกเก็บรักษาและคัดเลือกอย่างพิถีพิถันโดย เซบาสเตียน วิวาส (Sébastian Vivas) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งโอเดอมาร์ ปิเกต์ อาทิ นาฬิกาพก Triple Complication รุ่นบุกเบิกปี 1880, นาฬิกาอาร์ต เดโค ที่มาพร้อมระบบแสดงเวลาแบบ Jumping hours จากปี 1930, นาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค ออฟชอร์ รุ่นบุกเบิก ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1993, รวมไปถึงนาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค RD#2 ประดิษฐกรรมเวลาชิ้นเอกแห่งปี 2018 ขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ ที่บางที่สุดในโลก อีกหนึ่งไฮไลท์ห้ามพลาดคือการสาธิตหลากทักษะอันเชี่ยวชาญโดยช่างฝีมือชั้นสูง กับเบื้องหลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเรือนเวลาที่หาชมได้ยาก ทั้งยังสะท้อนถึงปรัชญาหลักของแบรนด์ “To Break the Rules, You Must First Master Them” ได้เป็นอย่างดี

AUDEMARS PIGUET FIRST ROYAL OAK OFFSHORE

ฟรังซัวส์-อองรี เบนนาห์เมียส ซีอีโอแห่งโอเดอมาร์ ปิเกต์ เผยว่า “ในระยะหลังมานี้ โอเดอมาร์ ปิเกต์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย และนั่นคือเหตุผลที่เราตัดสินใจมาจัดนิทรรศการครั้งนี้ เพื่อบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ เกียรติประวัติอันภาคภูมิใจ และความล้ำค่าจากรุ่นสู่รุ่นให้ทุกคนได้สัมผัส และด้วยจุดยืนเดียวกันในการรังสรรค์เรือนเวลาอันล้ำค่าและสวยงามประณีตของโอเดอมาร์ ปิเกต์ เฉกเช่นเดียวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะของไทย เราหวังว่าการโคจรมาพบกันของ 2 วัฒนธรรมที่แตกต่างนี้ จะนำมาซึ่งแรงขับเคลื่อนเชิงสร้างสรรค์ต่อไป”

จากจุดเริ่มต้นในปี 1875 แม้ยุคสมัยและสไตล์จะเปลี่ยนไปเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่โอเดอมาร์ ปิเกต์ยังคงยึดมั่นอย่างแน่วแน่คือวิธีการคิดอันแสนท้าทาย เพื่อเผยให้เห็นถึงนวัตกรรมชั้นเลิศและศาสตร์แห่งศิลป์อันเชี่ยวชาญ นิทรรศการครั้งนี้จึงหลอมรวมเหตุการณ์สำคัญๆในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ไว้อย่างครบครัน โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 17 มิถุนายน 2561 เวลา 10.30 – 20.00 น. ณ ชั้น G ลาน เอเทรี่ยม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี

เกี่ยวกับโอเดอมาร์ ปิเกต์ (About Audemars Piguet)

โอเดอมาร์ ปิเกต์ ถือเป็นแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องบอกเวลาชั้นสูงที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งยังคงดำเนินธุรกิจสืบทอดกันในครอบครัวผู้ก่อตั้งมาจวบจนปัจจุบัน (ตระกูลโอเดอมาร์และตระกูลปิเกต์) ตั้งแต่ปี 1875 โอเดอมาร์ ปิเกต์ได้สร้างสรรค์เรือนเวลาหรูหราแห่งประวัติศาสตร์มากมาย ณ วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ (Vallée de Joux) หนึ่งในต้นกำเนิดของศาสตร์การผลิตนาฬิกาข้อมือชั้นนำใจกลางสวิตเซอร์แลนด์ ประดิษฐกรรมทุกชิ้นถูกผลิต ขึ้นด้วยความปราณีต งดงาม และสมบูรณ์แบบ ทั้งเรือนเวลาระดับมาสเตอร์พีซ นาฬิกาสปอร์ตสุดหรู รุ่นคลาสสิคเหนือกาลเวลา อีกทั้งเรือนเวลาอันสวยงามโดดเด่นสำหรับสุภาพสตรีที่เทียบได้กับจิลเวอรี่ล้ำค่า รวมไปถึงสุดยอดผลงานที่มีให้ครอบครองเพียงแค่ไม่กี่ชิ้นในโลก ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.audemarspiguet.com

เกี่ยวกับอริญชย์ รุ่งแจ้ง (About Arin Rungjang)

ศิลปินรุ่นบุกเบิกด้านศิลปะจัดวาง (installation art) ผู้มีถิ่นฐานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ผลงานของเขาเน้นการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ และความทรงจำเกี่ยวกับทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอริญชย์ให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัวที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ผลงานของเขาถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ วิดีโอ ประติมากรรม หรือแม้แต่บทเรียนการทำอาหาร อริญชย์เลือกผสมผสานความต่างระหว่างความเป็นส่วนรวมกับส่วนตัว ภายในกับภายนอก อดีตกับปัจจุบัน ถ่ายทอดผ่านสิ่งของในชีวิตประจำวันต่างๆที่สามารถเป็นจุดเชื่อมโยงของเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งถ่ายทอดผ่านประสบการณ์อันเชี่ยวชาญของตัวเอง เขามุ่งเน้นความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องราวประวัติศาสตร์ของไทยที่คลุมเครือและอาจยังส่งผลกระทบจนถึงปัจจุบัน

อริญชย์เป็นศิลปินไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลกอย่าง Venice Biennale ครั้งที่ 55 ในปี 2013 นอกจากนี้ผลงานของอริญชย์ยังเป็นที่รู้จักในวงกว้างและถูกจัดแสดงอีกหลายแห่งทั่วโลก อาทิ มหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 ในปี 2017, หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในปี 2015, พิพิธภัณฑ์ Jeu de Paume กรุงปารีส ในปี 2015, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย The Musée d’Art Contemporain ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2015, พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ ในปี 2014, Biennale of Sydney ครั้งที่ 18 ในปี 2012 และ Shanghai Biennale ในปี 2012