อัตราเจริญพันธุ์ที่ลดลงทั่วโลก จากผู้หญิง 1 คน มีบุตรได้ 4.8 คน เหลือ 2.2 คน รวมถึงค่านิยมคู่แต่งงานที่เปลี่ยนไป กลายเป็นปัญหาใหญ่ชองสังคมสูงวัย ทั่วโลกตื่นตัว หนุนตลาดบริการรักษาผู้มีบุตรยากเติบโตสูง ในไทยมูลค่าพุ่งกว่า 6,000 ล้าน
ข้อมูลจาก UN พบว่า อัตราการเจริญพันธุ์ในหลายภูมิภาคของโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2513 ที่ผู้หญิง 1 คนมีบุตรจำนวน 4.8 คน เหลือเพียง 2.2 คน ในปี 2568 รวมถึงค่านิยมในการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คู่สมรสทั่วโลกมีบุตรช้าลง สะท้อนจากอายุเฉลี่ยในการคลอดบุตรคนแรกทยอยปรับเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ราว 28 ปี เทรนด์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
Technavio บริษัทวิจัยด้านการตลาด คาดการณ์ว่า ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกในปี 2568 มีมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.8% จากปี 2567 โดยบริการรักษาด้วยวิธีทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertility: IVF) มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของมูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่าส่วนแบ่งตลาดการรักษาด้วยวิธี IVF จะเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2563 ไปเป็น 26% ในปี 2573 จากหลายประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยในระดับที่รุนแรงขึ้น
จากปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลก ยังสนับสนุนการเดินทางออกไปรับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในต่างประเทศ (Fertility Tourism) ให้ขยายตัว โดยปี 2566 Fertility Tourism มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 หรือราว 14% ของมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก การเติบโตของตลาด Fertility Tourism ของโลก ส่งผลให้ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการเดินทางเข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติมากขึ้น
สำหรับตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 6,300 ล้านบาท เติบโต 6.2% จากปี 2567 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ลูกค้าชาวไทย มีสัดส่วน 70% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด และลูกค้าต่างชาติอีก 30%
อิศราวดี เหมะ เจ้าหน้าที่วิจัย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยจะกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 2567 จากการเดินทางเข้ามารับบริการของชาวต่างชาติที่ขยายตัวสูงกว่าภาพรวมตลาด โดยเฉพาะการรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว ที่คาดว่าจำนวนรอบการรักษาจะเพิ่มขึ้น 5.9% และเป็นวิธีที่ชาวต่างชาตินิยม เนื่องจากอัตราความสำเร็จสูงกว่าวิธีอื่นๆ ส่วนการรักษาด้วยวิธีผสมเทียมที่อัตราความสำเร็จต่ำกว่า จำนวนรอบการรักษาน่าจะเพิ่มขึ้น 3.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับบริการของชาวไทย
ขณะที่มูลค่าตลาดของชาวไทยที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก คาดว่าจะขยายตัว 5.0% ในปี 2568 จากค่านิยมมีบุตรช้าลง และปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คู่สมรสชาวไทยนิยมมีบุตรช้าลง สะท้อนจากสัดส่วนการคลอดของสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนราว 35% ในปี 2555 คาดว่าจะขยับมาเป็น 46% ในปี 2568 รวมถึงหลายคู่ประสบภาวะมีบุตรยากจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความไม่สมบูรณ์ของฮอร์โมน โรคอ้วน และโรคเครียดจากการทำงาน เป็นต้น
ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากจาก Fertility Tourism ที่มีความโดดเด่นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
– ค่ารักษาพยาบาลยังต่ำกว่าคู่แข่ง การรักษาโดยวิธี IVF ในไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมถึงสถานพยาบาลไทยที่ได้มาตรฐาน Joint Commission International (JCI) สูงกว่าหลายประเทศ
– ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ชาวต่างชาตินอกเหนือจากการรักษา เช่น โรงแรม/ที่พัก ร้านอาหาร ศูนย์การค้าต่างๆ รวมถึงการออก Medical Treatment Visa ให้แก่ผู้มารับบริการชาวต่างชาติที่ต้องพำนักในไทยเพื่อติดตามผลการรักษา
นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในตลาด Fertility Tourism มากขึ้นในอนาคต จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- การผ่อนปรนนโยบายมีบุตรของรัฐบาลจีน จาก 2 คน มาเป็น 3 คน ตั้งแต่ปี 2564 จากปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยของจีนที่รุนแรงขึ้น และแนวโน้มประชากรจีนที่ยังคงลดลง ส่งผลให้ไทยที่เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวจีน
- การเตรียมปรับกฎหมายอุ้มบุญของไทย เช่น การยอมให้ญาติสืบสายโลหิตของภรรยาอายุตั้งแต่ 20-40 ปี สามารถบริจาคไข่ได้ โดยไม่ต้องผ่านการสมรส และการยอมให้ภรรยาอายุ 55 ปีขึ้นไป สามารถรับบริการอุ้มบุญได้ ซึ่งหากมีการปรับแก้สำเร็จ คาดว่าจะสนับสนุนให้การบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ของตลาดคนไทยเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น
- การบังคับใช้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ในปี 2568 ทำให้ต้องมีการปรับแก้กฎหมายลูกต่างๆ ให้สอดรับกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเฉพาะการยอมให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีบุตรได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยให้เปิดกว้างมากขึ้น ปัจจุบันกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในไทยมีอยู่ราว 5.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 9% ของจำนวนประชากรไทย
- เทรนด์มีลูกเมื่อพร้อม ผลักดันให้บริการแช่แข็ง/ฝากไข่เติบโตทั่วโลก สะท้อนจากมูลค่าตลาดบริการแช่แข็ง/ฝากไข่ของโลกที่คาดว่าจะโตเฉลี่ยปีละ 8% (CAGR 2566-2571) สูงกว่าอัตราการเติบโตของบริการอื่นๆ ในตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทำให้ไทยอาจแข่งขันในตลาด Fertility Tourism ได้มากขึ้นจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเข้มงวดน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์มีการกำหนดช่วงอายุสตรีที่รับบริการได้อยู่ระหว่าง 21-37 ปี และมาเลเซียกำหนดให้สตรีโสดที่จะแช่แข็ง/ฝากไข่ได้ต้องไม่ใช่ชาวมุสลิม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก มีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่รายได้ของธุรกิจขึ้นอยู่กับมาตรฐานและอัตราความสำเร็จเป็นสำคัญ ทำให้ธุรกิจต้องพัฒนาคุณภาพการบริการ และการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยอัตราความสำเร็จแลรักษารายได้และอัตรากำไรในระยะยาว รวมทั้งด้วยจำนวนบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมีจำกัด และมีความเสี่ยงขาดแคลนบุคลากรในอนาคต