มีสติ ยั้งคิด ตั้งคำถาม…ก่อนแชร์-ส่งต่อ

43
ภาพจาก :https://th.bsearch.in.th/news/8-2431

ช่วงนี้มีแคมเปญทาง social media อันหนึ่ง ซึ่งหลายคนชอบ แล้วก็แชร์กันไปในวงกว้าง เป็นแคมเปญลักษณะที่ว่า ถ้าโพสต์รูปขาวดำ แล้วติดแฮชแท็ก (#) ชื่อโครงการ กับแฮชแทกชื่อแบรนด์สินค้านั้นแล้ว แล้วบริษัทจะบริจาคเงินสิบบาทต่อรูปที่โพสต์เพื่อบริจาคการกุศล ฟังดูแล้วก็น่าสนใจ ทำความดีนี้มันช่างง่าย แค่โพสต์รูปแล้วใส่ # แล้วแชร์ แล้วก็มีคนบริจาคเงินไปทำความดีให้เราแล้ว ง่ายๆ ดี ก็ช่วยๆ กันไปสินะ รออะไร

แต่จริงๆ ก็อยากบอกให้รอ..นิดนึ่งนะ..หยุดคิดสักห้าวิก็ยังดี..ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับการทำความดี เพียงแต่ว่า การจะทำความดีสมัยนี้ เราต้องมีสติพิจารณากันให้มากขึ้นสักหน่อย ก่อนจะตกเป็นเครื่องมือหรือเหยื่อที่ติดกับดักความสงสารที่ส่งผ่านมาหาเราด้วยรูปแบบต่างๆ

ไม่ได้กำลังกล่าวหากรณีตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น ไม่ได้ต่อต้านการทำแคมเปญลักษณะนี้ด้วย แต่อยากจะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง ในฐานะที่ก็เคยทำงานเบื้องหลังด้วยแคมเปญคล้ายๆ อย่างนี้มาก่อน ถือว่าเป็นการบอกเล่า และชวนให้มองกันหลายๆ มุม เล่าเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่กล่าวหา

แนวคิดในการทำแคมเปญ CSR แบบนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด รูปแบบนี้เคยมีทำกันมาหลายปีแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องมือในการสื่อสาร ไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เคยมีบริษัทที่ทำแคมเปญ CSR ด้วยวิธีคล้ายๆ กันนี้้ แต่สื่อสารผ่านทาง sms และก็มีการจำกัดงบประมาณสูงสุดสำหรับแคมเปญ เท่าไหร่ก็ว่ากันไป แคมเปญนี้ก็เช่นกัน งบประมาณบริษัทตั้งไว้ที่ หนึ่งแสนบาท แชร์ออกไปเท่าไหร่ โพสต์รูปกันมากน้อยแค่ไหน บริษัทก็ตั้งใจไว้ว่าจะให้หนึ่งแสนบาท ไม่มากไม่น้อยสำหรับการทำแคมเปญ และด้วยบริบทการสื่อสารสมัยใหม่ที่คนหันมาใช้สื่อสารผ่าน social media เพิ่มมากขึ้น ก็เลยเปลี่ยนมาทำแคมเปญผ่าน social media แทน ซึ่งก็ค่อนข้างได้ผลมาก มีคนส่งแชร์ต่อๆ กันไปอย่างกว้างขวาง เหมือนความดีที่ส่งต่อกันไปอย่างไม่สิ้นสุด

ถ้ามองในแง่มุมของการทำประชาสัมพันธ์โครงการ ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาก มีคนให้ความสนใจร่วมโครงการ โพสต์รูป ติดแฮชแท็ก และชักชวนบอกต่อๆ กันไป ทำตามๆกันไป ชื่อแบรนด์ก็ติดหู ติดตา ติดมือ ติดใจผู้บริโภคกันไปไม่น้อย ผู้บริหารบริษัทนี่ควรพิจารณาให้รางวัลคนทำโครงการกันเลยทีเดียว เพราะใช้แนวคิดการทำ CSR มาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรได้เป็นอย่างดี

ในแง่ขององค์กรการกุศลที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์ ก็ถือว่ามีโอกาสได้ประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้คนสนใจได้มากขึ้น ตัวองค์กรมีตัวตนมานานแล้ว แต่ใครสักคนหยิบยกขึ้นมา ก็ทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจมากขึ้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นความดีของโครงการ

สำหรับในแง่มุมของผู้บริโภค แคมเปญนี้ทำให้รู้สึกว่าคนไทยนี่ใจดี ใจดีมากก..จริงๆ อะไรที่เชื่อว่าเป็นความดี ก็พร้อมจะทำ พร้อมจะช่วย พร้อมจะให้ความร่วมมือ คนไทยน่ารักก็ตรงนี้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป เราก็มีน้ำใจให้กันเสมอ

สิ่งที่น่าสนใจชวนให้คิด คือ หลายๆ คนช่วยแชร์ ช่วยโปรโมทโครงการนี้ โดยไม่ได้ดูรายละเอียดว่า เงินบริจาคจะบริจาคอย่างไร ใครเป็นคนบริจาค บริจาคจริงหรือไม่ เท่าไหร่ ให้ไม่อั้น หรืออย่างไร? เราก้มหน้าก้มตาแชร์กันไป ไม่ได้ตั้งคำถาม และเราก็กลายเป็นสื่อช่วยโปรโมทแบรนด์อย่างเต็มใจ

ถามว่าผิดมากไหม ถ้าจะช่วยโปรโมทกันไปในลักษณะนี้…ไม่ผิดเลยสักนิด..แค่ชวนให้คิดเล่นๆ เฉยๆ ว่าถ้าเรารู้ ถ้าเราคิด ถ้าเราสนใจอีกสักนิด เราจะยอมตกเป็นเครื่องมือช่วยโปรโมทแบรนด์โดยเต็มใจไหม หลายคนอาจจะบอกว่าก็ไม่เห็นเป็นไร ทำไมต้องคิดมากขนาดนี้ ..ก็ใช่..แต่เชื่อว่าหลายคนก็รู้สึกว่า ไม่ใช่ และไม่อยากตกเป็นเครื่องมือ ..

สิ่งที่อยากบอกก็คือ ถ้าไม่อยากเป็นเครื่องมือ เราก็ต้องมีสติ ต้องยั้งคิด ต้องตั้งคำถาม …การจะแชร์หรือส่งต่อข้อมูลอะไร ต่อให้ข้อมูลนั้นดูดีแค่ไหน..ก่อนจะแชร์หรือร่วมขบวนการอะไรออกไป ให้พิจารณาให้มากๆ ..หาไม่ เราก็อาจตกเป็นเครื่องมือของอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากมาย โดยเฉพาะเหยื่อที่มาในรูปแบบของความน่าเห็นใจ ที่มีให้เห็นมากขึ้นทุกทีในเวลานี้