ม.ทักษิณ เปิดคณะสหเวชศาสตร์ พร้อมรับนิสิตใหม่ ปีการศึกษา 2569

2

มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดคณะสหเวชศาสตร์ รองรับการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการ หวังปั้นบุคลากรทางการแพทย์ตอบสนองความต้องการของประเทศ เปิดรับนิสิตในปีการศึกษา 2569 เป็นปีแรก

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า จากสถานการณ์การ
ขาดแคลนบุคลากรทางสาธารณสุขทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความต้องการการศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในสาขาที่เป็นวิชาชีพมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสหเวชศาสตร์ จึงทำให้มีอัตราการแข่งขันในการสอบเข้าศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมมีอัตราที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่มหาวิทยาลัยทักษิณมีความพร้อมในการจัดการศึกษาทางด้านนี้จึงตระหนักในการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

“จากสภาวะการณ์ดังกล่าวข้างต้น สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 จึงอนุมัติให้มหาวิทยาลัยทักษิณจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อรองรับงานด้านการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการ เพื่อเพิ่มกำลังคนในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ หลักสูตรกายภาพบำบัด หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ หลักสูตรจิตวิทยา และหลักสูตรรังสีเทคนิค เพื่อจะเพิ่มกำลังคนที่เป็นความต้องการของประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

รวมถึงการสร้างความเสมอภาคการขยายโอกาสทางการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพให้กับประชาชน เป็นการสร้างโอกาสการแข่งขันเพิ่มขีดความสามารถของมหาวิทยาลัย ซึ่งคณะสหเวชศาสตร์ จะเริ่มดำเนินการเปิดรับนิสิตในปีการศึกษา 2569 เป็นปีแรก จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรกายภาพบำบัด จำนวน 40 คน  2) หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ จำนวน 40 คน 3) หลักสูตรจิตวิทยา จำนวน 40 คน  และในปีการศึกษา 2573 เปิดรับนิสิตหลักสูตรรังสีเทคนิค จำนวน 40 คน และมีอัตราค่าเล่าเรียนทุกหลักสูตรอยู่ระหว่าง 20,000-27,000 บาท ต่อภาคการศึกษา” รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์การรับนิสิตระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2567 มหาวิทยาลัยทักษิณ พบว่าอัตราการแข่งขันการเข้าศึกษาในหลักสูตรทางวิชาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์สุขของภาพมหาวิทยาลัยทักษิณมีค่อนข้างสูง  การเพิ่มจำนวนผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นจึงมีความสำคัญทั้งในแง่มุมของการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเพื่อการพัฒนากำลังด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างยั่งยืน  เพราะเป็นสาขาวิชา/ หลักสูตรที่นักเรียนให้ความสนใจและสมัครเข้าศึกษาต่อในด้านนี้กันมากขึ้น ดังรายงานการสำรวจของ Dek-D และ Megastudy (2024) ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มออนไลน์ให้ความรู้ แนะแนวการศึกษาต่อ การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยมมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ยังกล่าวอีกว่าปัจจุบันการเข้าศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพนอกจากกลุ่มแพทย์ศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาล แล้ว กลุ่มสาขาที่เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ได้แก่ หลักสูตรกายภาพบำบัด หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ หลักสูตรจิตวิทยา และหลักสูตรรังสีเทคนิค ก็ต่างได้รับความนิยมในระดับสูงเช่นเดียวกัน

ดังนั้นมหาวิทยาลัยทักษิณจึงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข และการจัดบริการด้านสุขภาพ เพื่อสนองตอบความต้องการที่เพียงพอของภายในประเทศ  ประกอบกับ ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการสูงขึ้นในบริการด้านสุขภาพทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการขับเคลื่อนประเทศเป็น “ศูนย์กลางบริการสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย”