อากาศที่เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน ในช่วงนี้ เป็นสาเหตุในการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถือเป็นโรคติดต่อหนึ่งของระบบทางเดินหายใจที่มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสังคมเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในอาคารปิด ใช้ระบบหมุนเวียนอากาศร่วมกัน มีทั้งคนไอและจาม รวมถึงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีผู้คนแออัด ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคได้ง่ายและรวดเร็ว การป้องกันตนเองโดยการฉีดวัคซีน ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ ยิ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ควรเข้ารับการฉีดป้องกัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดี
รู้จักไข้หวัดใหญ่
นายแพทย์ปิยะวัชร์ เตธวัช อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา(Influenza Virus) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจและระบบอื่นๆ สามารถแยกชนิดของไข้หวัดใหญ่ในคนได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระบาดไปทั่วโลก ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เชื้อโรคก็มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้คนป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถป่วยได้อีก แต่อาการมักไม่รุนแรง
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอช1 เอ็น1(H1N1) ที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสตัวเดิมไปมาก ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อได้ในวงกว้าง
โดยทั่วไปแล้ว ไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา สังเกตได้จากอาการที่มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ต่างจากไข้หวัดธรรมดาที่มักมีอาการค่อยเป็นค่อยไปและที่สำคัญคือ ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงติดกันหลายวันโดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย
ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีไข้แต่ไม่สูงมากนัก โดยอาการของไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการที่รุนแรงโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด และผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายไม่แข็งแรง โดยอาการของโรคไข้หวัดใหญ่มีดังนี้คือ ไข้สูง ปวดศีรษะและบริเวณเบ้าตา รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ไอแห้งๆ เจ็บคอและมีน้ำมูก สาเหตุของการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป คือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ จาม เข้าไป หรือการสัมผัสมือ การใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมทโทรทัศน์ แล้วเผลอเอามือนั้นมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อโรคเหล่านั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
รู้วิธีป้องกัน
- ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและเสมหะของผู้ป่วย
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสจมูก ตา ปากของตัวเองหากต้องสัมผัสกับผู้ป่วย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือมีผ้าปิดปากและจมูก เวลาไอ จาม สำหรับภาวะแทรกซ้อนเมื่อป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือในเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ภาวะขาดน้ำ หรือ ทำให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่แย่ลง เช่น ภาวะหัวใจวาย หรือหากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
รู้เวลาฉีดวัคซีน
ผู้ที่ควรเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะคือ ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยอายุระหว่าง 19-64 ปี ที่มีโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจากโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนช่วงที่จะมีการระบาดของโรค สำหรับประเทศไทยควรฉีดในระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายนของทุกปี เพราะร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคหลังฉีดวัคซีนประมาณ 2 สัปดาห์
ที่สำคัญการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สามารถเปลี่ยนสายพันธุ์ได้ แนะนำให้ฉีดป้องกันไว้ทุกปี เพราะวัคซีนที่ผลิตในแต่ละปีจะเป็นวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในปีนั้นๆ วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคประมาณ 70 – 90% แต่ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายไม่แข็งแรง การตอบสนองต่อวัคซีนอาจลดลง อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน ลดโอกาสที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตลงได้
ในแต่ละปีมีผู้คนจำนวนมากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นการป้องกันก่อนเกิดโรคด้วยการได้รับวัคซีนเป็นประจำทุกปี คือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลโรคได้ ถ้าเรารู้เท่าทันและป้องกันตัวเอง “ไข้หวัดใหญ่” ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลกรุงเทพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 1719