กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายและกลุ่มศิลปินรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560 ภายใต้คำขวัญ “บุหรี่ : ตัวร้ายทำลายการพัฒนา” จากผลการสำรวจล่าสุด คนไทยสูบบุหรี่19.9% หรือประมาณ 10.9 ล้านคน ที่สำคัญพบว่าในแต่ละปีจะมีเด็กและเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่มากถึง 2-2.5 แสนคน
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และกลุ่มศิลปิน ดารา นักแสดง ร่วมแถลงข่าวรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
นพ.เจษฎา กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยประเด็นการรณรงค์ประจำปี 2560 นี้ คือ “Tobacco-a threat to development” หรือ “บุหรี่ : ตัวร้ายทำลายการพัฒนา” เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรง ภัยคุกคามที่เกิดจากอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพประชาชนของประเทศในด้านสุขภาพ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุด ในปี 2558 พบว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 54.8 ล้านคน สูบบุหรี่ร้อยละ 19.9 หรือประมาณ 10.9 ล้านคน แยกเป็นเพศชาย 39.3% เพศหญิง1.8% และอัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายมากกว่าเพศหญิง 21.8 เท่า ที่สำคัญพบว่าในแต่ละปีจะมีเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่มากถึง 2-2.5 แสนคน ซึ่งจะส่งผลให้สูญเสียทรัพยากรบุคคลในอนาคต และสูญเสียด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากความเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องมาจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรี่
สำหรับกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560 จัดขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เวลา 11.00-20.00 น. ณ Cascata ชั้น G Future Park และ Zpotlight ชั้น G Zpell โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานและประทานรางวัล World No Tobacco Day Award 2017 รวมทั้งมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ภาคีเครือข่ายฯ และบุคคล/หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบ
นพ.แดเนียล กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ โดยแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบันทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากในการกำจัดความยากจนทุกรูปแบบและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยที่การควบคุมยาสูบได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และขอแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ได้ผ่าน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กฎหมายฉบับนี้มีความทันสมัยและได้รวมข้อแนะนำต่างๆ ของ WHO FCTC ไว้ครบถ้วน การออกกฎหมายฉบับนี้จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อการพัฒนาประเทศ และการใช้นโยบายภาครัฐเพื่อสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย
ด้านนพ.หทัย กล่าวถึงเรื่องธุรกิจยาสูบและการแทรกแซงว่า บุหรี่ข้ามชาติ เป็นกิจการที่มีเงินทุนมหาศาล มีเป้าหมายสำคัญที่จะขยายกิจการของตนในประเทศต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน จึงพยายามที่จะขัดขวางนโยบายและกฎหมายควบคุมยาสูบด้วยกลยุทธ์หรือรูปแบบการแทรกแซงที่หลากหลาย
ส่วน ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ยาสูบส่งผลลบต่อ 8 ใน 17 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยในกรณีของประเทศไทย ภัยคุกคามต่อการพัฒนาที่สำคัญที่สุด คือ เป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการทำให้ประชากรมีสุขภาพดี เนื่องจากมีคนไทยที่เสพติดบุหรี่และเลิกไม่ได้ถึง 11 ล้านคน ทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 5 หมื่นคน 30% เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ทำให้ครอบครัวขาดที่พึ่ง เนื่องจากผู้สูบบุหรี่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ชายที่จำนวนมากเป็นผู้ที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว และมีผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่หนึ่งล้านคน
การสูบบุหรี่สร้างภาระการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนเวลาที่สำคัญที่สุดอันดับที่สองของคนไทย ส่วนประเด็นภัยคุกคามรองลงมาคือเป้าหมายที่ 1 ว่าด้วยการขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ โดยข้อมูลปี 2557 พบว่ามีคนไทยที่ฐานะจนและจนที่สุด ที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละหกพันบาท และสองพันบาทต่อเดือน ตามลำดับ รวมกันแล้วมีจำนวนถึงสามล้านหนึ่งแสนคน เสียเงินค่าซื้อบุหรี่รวม 7,674 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการเสียเงินค่าบุหรี่ในคนจนเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ เช่น การศึกษาของบุตรหลาน การมีโภชนาการที่เพียงพอ และผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะสูบุหรี่ในบ้าน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเป้าหมายการทำสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยด้านที่อยู่อาศัยด้วย