โรคโบทูลิซึมคืออะไร ไม่ได้มีแค่ในหน่อไม้ปี๊บ อาหารแปรรูปก็เสี่ยง

231

ปัจจุบันมีโรคชื่อแปลกเข้ามาให้ได้ยิน อย่างโรค “โบทูลิซึม” ที่ฟังแล้วอาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่อาจจะเป็นที่รู้จักกันในบางกลุ่มว่า การบริโภคหน่อไม้ปี๊บที่ปนเปื้อนสารพิษโบทูลินั่ม จะทำให้เป็นโรคนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ยังมีอาหารแปรรูปอีกหลายชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ และอาจจะมีอันตรายถึงชีวิต

โรคโบทูลิซึม เป็นโรคที่ทําให้เกิดอัมพาตของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษโบทูลินั่ม (Botulinum toxin) สามารถพบได้ทั่วไปในดิน น้ำ หรือแม้แต่ในลำไส้ของปลาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาการป่วยเริ่มจากอาการโรคทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว แต่ระยะฟักตัวของอาการทางระบบประสาทจะเกิดขึ้น 12-36 ชั่วโมง เช่น ตามัว กลืนลำบาก ลิ้นแข็ง และอาการรุนแรงที่สุดคือกล้ามเนื้อทางเดินหายใจอ่อนแรงจนทำให้หายใจไม่ได้และอาจเสียชีวิตได้  ซึ่งต้องรักษาด้วยการให้โบทูลินั่มแอนตี้ท็อกซิน

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคโบทูลิซึมในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540–2557   พบผู้ป่วยยืนยันโรคโบทูลิซึม จำนวน 9 เหตุการณ์  รวมทั้งสิ้น 277 ราย เสียชีวิต 3 ราย  ส่วนใหญ่เหตุการณ์เกิดขึ้นทางภาคเหนือ  ส่วนเหตุการณ์ที่พบผู้เสียชีวิตนั้น เกิดขึ้นที่จังหวัดน่าน มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 2 ราย สาเหตุจากการรับประทานหน่อไม้ปี๊บ และจังหวัดสระบุรี มีผู้ป่วย 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย สาเหตุจากการรับประทานหมูยอที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ (วันที่ 13 – 19 พ.ค. 61) คาดว่าประเทศไทยมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคโบทูลิซึมได้เนื่องจากความนิยมแปรรูปอาหารในครัวเรือนเพื่อรับประทาน และจำหน่ายเป็นธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน ซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย

ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าโรคโบทูลิซึม เกิดจากการรับประทานหน่อไม้ปี๊บเท่านั้น เนื่องจากในอดีตพบว่าอาหารเสี่ยงมักเกิดจากการรับประทานหน่อไม้ปี๊บ แต่หลังจากนั้นได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตหน่อไม้ปี๊บที่ปลอดภัยเผยแพร่ให้แก่ผู้ประกอบการ จึงทำให้ไม่พบเหตุการณ์โรคโบทูลิซึมจากการรับประทานหน่อไม้ปี๊บตั้งแต่ปี 2550

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ขอนำแนะว่า อาหารเสี่ยงของโรคนี้สามารถพบได้ในอาหารหลากหลายประเภท วิธีการสังเกตคืออาหารนั้นมีสภาพอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิดแบบอับอากาศ ดังเช่นที่เคยตรวจพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารกระป๋องบางชนิด หมูยอที่ไม่ได้มาตรฐาน ถั่วเน่าอึ หน่อไม้ต้มบรรจุในถุงพลาสติก ปูดองในขวดโหล โดยเป็นอาหารที่ดูเหมือนสุกแล้วจึงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้นำมาผ่านความร้อนซ้ำอีกครั้งก่อนรับประทาน  ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนรับประทานอาหารขอให้ประชาชนนำมาผ่านความร้อนซ้ำอีกครั้ง

อาหารชนิดใดก็ตามหากปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคได้หลายอย่าง และการแปรรูปอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจจะนำมาซึ่งโรคโบทูลิซึม ดังนั้นการปรุงสุก หรือเลือกรับประทานอาหารจากแหล่งที่เชื่อมั่นได้ เป็นแนวทางที่น่าจะปลอดภัยมากกว่า