การดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยขั้นวิกฤตของผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และผู้ประสบอุบัติเหตุรุนแรงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาที่ถูกต้องในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก เนื่องจากเป็นที่ยอมรับว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อย่างมาก ดังนั้น เฮลิคอปเตอร์จะมีบทบาทสำคัญในการให้ทีมแพทย์เดินทางอย่างเร่งด่วนไปสู่สถานที่เกิดเหตุหรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่เหมาะสมได้ภายในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงดังกล่าวซึ่งมักเรียกว่า “ชั่วโมงทองแห่งชีวิต (Golden hour)”
การปฏิบัติการด้านการดูแลรักษาในประเทศไทยส่วนใหญ่คือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลและระหว่างโรงพยาบาล เท่าที่ผ่านมา มีปฏิบัติการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยานภายใต้โครงการ “Thai Sky Doctor” แต่ไม่บ่อยครั้งนัก เฮลิคอปเตอร์จะสามารถนำมาใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่ต้องรับการดูแลรักษาหรือสถานที่เกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการนำส่งทีมแพทย์ที่ทรงคุณวุฒิมารักษาหรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาล
ไม่นานมานี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ประกาศร่วมกันผลักดันบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Services) ในประเทศไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU)
ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า “เราวางเป้าหมายการดำเนินการในอนาคตไว้สองช่วง โดยระยะแรกจะทำให้เกิดการช่วยชีวิตโดยเฮลิคอปเตอร์จะสามารถบินระหว่างจุดขึ้นลงที่ CAAT จะอนุญาตไว้ล่วงหน้าให้ใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินทางทางการแพทย์ หลังจากนั้นจะแก้ไขกฎระเบียบให้เฮลิคอปเตอร์ประเภทนี้สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ทุกที่เช่นเดียวกับในยุโรป”
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวเสริมว่า “บริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นและเข้าถึงได้ยากซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย โครงการนี้ช่วยให้เรามุ่งสู่วิสัยทัศน์การสร้างมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วยการมอบการดูแลรักษาที่ทุกคนเข้าถึงได้และด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย”
นายเฮนริค โฮโลลีย์ (Henrik Hololei) ปลัดกระทรวงคมนาคมและขนส่งสหภาพยุโรป กล่าวว่า “ภูมิภาคยุโรปมีความมุ่งมั่นกับการเป็นพันธมิตรกับประเทศไทย และด้วยการทำงานขององค์การกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) เรามีความภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่กำลังดำเนินการตามแผนงานด้านกฎระเบียบ บริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ที่มีความปลอดภัยจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เร่งการพัฒนาธุรกิจการบินและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศในประเทศไทยให้มีทักษะสูงขึ้น”
เกี่ยวกับสหภาพยุโรป
ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทระดับโลก สหภาพยุโรปทำงานเพื่อยกระดับชีวิตของผู้คนในยุโรปและทั่วโลก สหภาพยุโรป (EU) และประเทศไทยผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน ด้วยการแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดและองค์ความรู้ต่างๆ สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นสนับสนุนการเติบโตและพัฒนาการที่รวดเร็วของประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและกระทรวงคมนาคมและขนส่งสหภาพยุโรปช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างมาตรฐานสูงสุดด้านความปลอดภัยและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมการบินพลเรือน