อพท. เปิดตัว ผอ.คนใหม่ “ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” นำทัพท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

0

“ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” เข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. อย่างเป็นทางการพร้อมร่วมประชุมกับคณะผู้บริหาร อพท. เพื่อมอบนโยบายแผนการดำเนินงาน โดยชูวิสัยทัศน์ “Beyond the STAR” และ กลยุทธ์การดำเนินงาน “ทิศทาง ก-ข-ค เริ่มทันที ไม่มีรีรอ” สร้างแนวทางการบริหารจัดการที่กระชับ เข้าใจง่าย นำไปสู่การปฏิบัติได้ทันที

วันที่ 21 เมษายน 2568 ฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ประธานกรรมการ อพท. (บอร์ด อพท.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ อพท. ให้การต้อนรับ ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. อย่างเป็นทางการ

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร มีประสบการณ์การทำงานในวงการท่องเที่ยวเกือบ 4 ทศวรรษ กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปี 2568 มีผลงานที่โดดเด่นทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เคยดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และรองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด สำหรับการเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการ อพท. ในครั้งนี้ นายศิริปกรณ์ กล่าวว่า ได้ยึดมั่นการดำเนินงานด้วยคติประจำใจที่ใช้ในการขับเคลื่อนทุกภารกิจ คือ “วินัยแบบราชการ ทำงานแบบเอกชน” เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ด้วย Passion ผนวกกับแรงบันดาลใจในฐานะที่ทำงานผูกพันโดยตรงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกว่า 35 ปี

ชูวิสัยทัศน์ “Beyond the STAR”

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวต่อว่า สำหรับการชูวิสัยทัศน์ “Beyond the STAR” คือ การนำ อพท. มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

S – Staff Inspiration สร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นในองค์กร ปลุกพลังบุคลากรที่มีจำกัดเพียง 200 กว่าอัตรา โดย Upskill & Reskill ไปสู่การ Cross-function บูรณาการข้ามสายงานอย่างจริงจัง เสริมพลังความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร อพท.

T – Technology & Innovation ใช้ประโยชน์จากสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งระบบรับฟัง Voice of Customer & Voice of Stakeholder / ระบบฐานข้อมูลอัจฉริยะ / พัฒนาด้วยนวัตกรรม / นำไปสู่การเดินทางจริงของนักท่องเที่ยว (Call to Action)

A – Accelerate Accountability ยกระดับการบริหารจัดการแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์Result-based (Outcome) มากกว่า task-based (Output) ทบทวนตัวชี้วัดร่วมกันทั้งระดับนโยบาย ระดับบริหาร และระดับพนักงานปฏิบัติการ รวมทั้งความคาดหวังของชุมชน หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และนโยบายของรัฐบาล นำประชาชนและชุมชนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ และร่วมรับผิดชอบต่อแหล่งท่องเที่ยวและการจัดการในชุมชน รักษาผลประโยชน์ให้ชุมชน ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง ทั่วถึง และเป็นธรรม

R – Reshaping Supply ปรับ – เปลี่ยน – ประเมิน – เดินหน้าสู่ความยั่งยืน บูรณาการทบทวนแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อตอบโจทย์สู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

กลยุทธ์ดำเนินการ “ทิศทาง ก-ข-ค เริ่มทันที ไม่มีรอ

ศิริปกรณ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ ก-ข-ค เริ่มทันที ไม่มีรีรอ คือกลยุทธ์ที่มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ โดย ก – คือ การกำหนดเป้าหมาย ทิศทางการดำเนินงานโครงการฯ สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพให้เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับประเทศ และระดับสากล

ข – คือ แข็งแกร่งจากข้างใน กล่าวคือ บุคลากรและงบประมาณที่จำกัด ไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นโอกาสที่ ทุกคนจะร่วมกันตกผลึกขับเคลื่อนสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรตามแนวคิด “Less is More” คุณภาพมากกว่าปริมาณ รวมถึงการ Upskill & Reskill และทำเส้นทางสายอาชีพ (Career Path) ที่ชัดเจน สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสูงสุด

ค – คือการสร้างคู่ค้าความร่วมมือ เพื่อนำแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนไปสู่มาตรฐาน ทั้งในส่วนของ องค์กรท้องถิ่น ในฐานะเจ้าของพื้นที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง องค์การมหาชน มากกว่า 50 หน่วยงาน อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งในส่วนของ Demand Side & Supply Side ตลอดจนผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดต่างๆ KOL และ Content Creators เพื่อสร้างครอบครัวที่จะร่วมแรงร่วมใจในการผลักดันเรื่องท่องเที่ยวยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุป อพท. จะต้องเป็นหน่วยสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน การบริหารจัดการพื้นที่พิเศษให้เติบโตต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพ เชื่อมโยงนำไปสู่การขายได้อย่างแท้จริง กระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ต่อยอดด้วยการส่งมอบสินค้าบริการที่มีศักยภาพสอดคล้องกับบทบาทของ อพท. ในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดการบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่ที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและบรรลุวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์ต่อไป