นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดตัวนิทรรศการชายหญิงสิ่งสมมุติ : Gender Illumination และ “ร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ” เนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คนรักสองเพศ (DAHOT) ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ ซึ่งผลักดันเรื่องการเปิดกว้างต่อทัศนคติด้านเพศ ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงคนในครอบครัว โดยในงานมีบุคคลสำคัญมาร่วมงานมากมาย โดยทางมิวเซียมสยาม จะเปิดให้เข้าชมนิทรรศการนิทรรศการชายหญิงสิ่งสมมุติ Gender Illumination เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 ก.ย.2561 และปิดทำการในวันจันทร์
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติ และได้มีความพยายามผลักดันกฎหมาย ด้านต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีกฎหมายทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามและชื่อสกุลได้ตามความสมัครใจ การแก้ไขกฎหมายการข่มขืนกระทำชำเราซึ่งขยายความคุ้มครองแก่บุคคลทุกเพศ ทุกสถานภาพ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในสังคมยังมีอยู่ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเจตคติ หรือความเชื่อของสังคม เช่น เชื่อว่างานประเภทนี้หญิงทำได้แต่ชายไม่ควรทำ หรืองานประเภทนี้เหมาะกับชายมากกว่าหญิง และหลายครั้งการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่ได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเป็นธรรมในสังคม และการที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มาร่วมจัดงานในวันนี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ พร้อมกับ 130 ประเทศทั่วโลก และเพื่อสร้างความตระหนักแก่สาธารณะในเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากอคติทางเพศร่วมกัน
ด้าน นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยามได้จัดทำนิทรรศการ ร่วมจากหลายฝ่ายทั้ง หน่วยงานที่รณรงค์ เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ทั้งในและต่างประเทศ จัดนิทรรศการชายหญิงสิ่งสมมุติ Gender Illumination โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้เรียนรู้ และเข้าใจ ต่อความหลายหลายทางเพศ ซึ่งจะทำให้สังคมเป็นสุข และเชิญชวนทุกคนมาร่วมเปิดความคิด ร่วมเรียนรู้ว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องของเราทุกคน การได้เข้าใจ “ความหลากหลายทางเพศ” จะช่วยให้เราทบทวนและเท่าทันต่อความเป็นไปในชีวิตผู้คนร่วมสมัย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างลดอคติ ยอมรับและเคารพในเพศสภาพทั้งของตัวเราเอง และของคนอื่นมากขึ้น
สำหรับ น.ส.ชนน์ชนก พลสิงห์ ภัณฑารักษ์ ผู้จัดนิทรรศการ กล่าวว่า ได้ใช้เวลากว่า 1ปี 7 เดือน ในการรวบรวมข้อมูล ทั้งด้านเนื้อหา ทัศนคติ สัมภาษณ์ ตลอดจนรวบรวมวัตถุจัดแสดงจากทั่วประเทศ เพื่อให้นิทรรศการสามารถสะท้อนเรื่องราว มุมมอง ทัศนคติที่หลากหลายในสังคม โดยแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ อาทิ เขาวงกตทางเพศ ห้องน้ำไร้เพศ บันทึก-เพศ-สยาม ฉากชีวิต ตบแต่งตัวตน คาเฟ่โรงละคร เป็นต้น