กรมควบคุมโรค สร้างเครือข่ายป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

62

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ กรมอนามัย กรมปศุสัตว์ สำนักงานเขตบางเขน และ THOHUN เชิญชวนประชาชนร่วมดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง เน้นพาสุนัขหรือแมวไปรับบริการฉีดวัคซีนปีละครั้ง สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมเผยคนกรุงเทพฯนิยมเลี้ยงสัตว์ตามคอนโดมากขึ้น เสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า กล่าวว่า จากผลการสำรวจพบประชาชนกว่าร้อยละ 50 คิดว่าเมื่อถูกสุนัขกัด / ข่วน / เลีย หรือเกิดแผลเล็กน้อยจะไม่เป็นอะไร จึงไม่ไปพบแพทย์ ทำให้ในปี 2561 นี้พบผู้เสียชีวิตในไทยแล้ว 9 ราย จาก 9 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์, สงขลา, ตรัง, นครราชสีมา, ประจวบคีรีขันธ์, บุรีรัมย์, พัทลุง, หนองคาย และยโสธร ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น    ผู้ที่ถูกสุนัขหรือแมวข่วน กัด แล้วไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะคิดว่ามีแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รวมทั้งคิดว่าเป็นสุนัข / แมว เลี้ยงในบ้าน

กรมควบคุมโรค และเครือข่าย ได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์ กรมอนามัย กรมปศุสัตว์ สำนักงานเขตบางเขน และเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนัก สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง และรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเองเพื่อสังคม โดยเชิญชวนประชาชน ในชุมชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันทุกปี และหากพบสัตว์ป่วย ตายสงสัย ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือปศุสัตว์ ในพื้นที่ให้เข้ามาดูแล พร้อมเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยยึดหลัก “คาถา 5 ย” 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือ สัตว์ต่างๆนอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ

ด้าน รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงและร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ คณาจารย์ และนักศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะได้เรียนรู้ และร่วมมือกับชุมชน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดโรคพิษสุนัขบ้าในระยะยาวต่อไป

ทางด้านผู้แทนTHOHUN กล่าวว่า THOHUN ได้รับการสนับสนุนจาก USAID ให้ร่วมดำเนินการสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐ โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมและชุมชน ในการหันมาป้องกันโรคอย่างจริงจัง  จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และยินดีที่จะสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างสรรค์สังคม และช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรคภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

นายสมบูรณ์ หอมนาม ผู้อำนวยการเขตบางเขน กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนในกรุงเทพมหานคร นิยมเลี้ยงสุนัขและแมวกันเกือบทุกครัวเรือนประกอบกับมีสุนัขและแมวจรจัดแพร่กระจายอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ในปี 2561 พบว่ามีสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพมหานครจำนวน 6 ตัวในพื้นที่ 4 เขต ซึ่งเขตบางเขนเป็นหนึ่งใน 4 เขตที่พบสุนัขติดเชื้อจำนวน 2 ตัว จึงได้ทำโครงการ 77 ชุมชนเขตบางเขนปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยครั้งนี้ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายออกทำกิจกรรม เพื่อกระตุ้นการรับรู้เเละป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้ายว่า กิจกรรมในครั้งนี้มีบูธนิทรรศการให้ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ และมีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง  เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ หันมาใส่ใจป้องกันสัตว์เลี้ยงของตนเองจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า อันจะช่วยให้การป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าสามารถกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทยได้  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422