กทม.-สพฐ.ขานรับเสริมทักษะกู้ชีพให้นักเรียน ทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่า ควรจะปลูกฝังให้เด็กไทยมีทักษะชีวิตที่จะรู้รอดปลอดภัยได้เมื่อต้องเผชิญอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อในอนาคตจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่เป็นภาระของประเทศชาติ
นายแพทย์พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้ในเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรค ในโครงการส่งเสริมและป้องกัน ไม่ให้คนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในส่วนของ กทม.ได้มีการทำกิจกรรมและส่งเสริมความรู้ร่วมกับศูนย์เอราวัณอยู่แล้ว ในส่วนตัวมองว่า การส่งเสริมให้เยาวชนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น การทำ CPRการร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ควรจะถูกบรรจุเป็นหลักสูตรการศึกษาเลยในทุกชั้นปี แต่กระบวนการเรียนการสอนจะต้องมีความแตกต่างและเหมาะสมกับทุกช่วงวัย
นายแพทย์พิชญา กล่าวว่า เราควรปลูกฝังเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เด็ก ส่วนการฝึกลงมือปฏิบัติอาจจะเริ่มการฝึกเมื่ออยู่ในชั้นมัธยมปลาย การปลูกฝังให้เด็กมีวินัยที่จะดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง รู้จักออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองเจ็บป่วยเป็นโรค เนื่องจากปัจจุบันเด็กในวัยเรียนอยู่ในภาวะอ้วนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเด็กเหล่านี้ หากไม่มีการควบคุมหรือลดน้ำหนัก เมื่อโตไปเด็กกลุ่มนี้จะกลายเป็นโรคที่เกิดจากการแสวงหา เช่น โรคข้อเสื่อม เนื่องจากมีน้ำหนักเกิน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วตนไม่อยากมองให้เป็นเรื่องของหลักสูตรการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เป็นเรื่องของทักษะชีวิตด้วย เพื่อที่เด็กกลุ่มนี้โตไปจะได้ไม่เป็นภาระของประเทศ
นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า การอบรมให้เยาวชนมีความรู้เรื่องการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นในภาวะฉุกเฉินเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก และเห็นด้วยที่ควรจะฝึกให้เยาวชนมีความรู้ ซึ่งอยากให้มีทีมที่สามารถจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อยู่ในโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ เหมือนกับมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ชีพฉุกเฉินอยู่ในโรงเรียน
ทั้งนี้เรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือปฐมพยาบาลในหลักสูตรการศึกษาของเรามีอยู่แล้ว แต่ชั่วโมงเรียนยังน้อยอยู่ หากมีการผลักดันให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ตนคิดว่าน่าจะอยู่ในส่วนของชมรมหรือกิจกรรมที่สามารถขยายผลได้โดยนักเรียนในกลุ่มนี้ ซึ่งจะสามารถปฏิบัติได้จริง
“ทั้งนี้ ท่านเลขาฯสพฐ.มีความเอาใจใส่ในเรื่องของอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นอย่างมาก โดยให้ออกสำรวจเลยว่าในแต่ละปีเด็กได้รับอันตรายจากเรื่องใดบ้าง เช่น จมน้ำ ซึ่งหากจะมีการเรียนการสอนเรื่องการกู้ชีพในภาวะฉุกเฉินได้จะเป็นเรื่องราวดีๆที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย” นายธีร์ กล่าว
ด้านคุณหญิงเดือนเพ็ญ พึ่งพระเกียรติ คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมเชิงนโยบายการศึกษาเพื่อให้เด็กไทยรู้รอดปลอดภัยในโครงการดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ค.นี้ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กทม. นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทางโครงการฯจะมีการต่อยอดและขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนให้โรงเรียนทั้งจากสังกัดสำนักปลัดกระทรวงศึกษา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสังกัด กทม.เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 400 คน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานประชุมและร่วมรับฟัง
“โครงการฯนี้ ได้รับการสนับสนุน จากกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อหวังให้เกิดการป้องกันมากกว่าการรักษาโรค ที่ผ่านมา ทางโครงการฯได้มีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายสำหรับเยาวชนในกลุ่มช่วงอายุต่างๆมาแล้วหลายครั้ง และได้รับเสียงชมจากเด็กๆ ผู้ปกครอง โรงเรียนต่างๆที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม และบอกไปในทางเดียวกันว่า อยากให้มีการดำเนินการของกิจกรรมเช่นนี้ให้มากขึ้นกระจายไปในโรงเรียนต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะที่จะดูและตนเองและผู้อื่นได้ ทางสมาคมฯพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางกระทรวงศึกษา เพื่อนำรูปแบบในการดำเนินการเพื่อให้ความรู้และฝึกทักษะที่ได้พัฒนาขึ้นไปขยายผลต่อไป” คุณหญิงเดือนเพ็ญ กล่าว