สสส.จัดงาน “เดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา”

39

สสส.จัดงาน “เดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา” ชวนคนไทยทั่วประเทศและชาวพุทธในต่างแดน ฝึกพัฒนาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง แสดงพลังความดีเนื่องใน “วันวิสาขบูชา” ผ่านเส้นทาง 3 สวนสาธารณะร่มเย็น มีจิตเป็นสมาธิ

 เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเดิน-วิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ถือศีลห้า ลด ละ อบายมุข ครั้งที่ 17 ชวนคนไทยทั่วประเทศและชาวพุทธทั่วโลก ฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง แสดงพลังความดีเนื่องในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 โดยมี ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นายประสาร จิโรจน์วีรภัทร ประธานสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย เข้าร่วม โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมส่วนกลางกว่า 4,000 คนและมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 50,000 คน จาก 70 สนามทั่วประเทศ ที่สำคัญคือ ในปีนี้มีการจัดกิจกรรมเดินวิ่งวันวิสาขบูชาในต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส มีการจัดงานวิ่งวิสาขะ พุทธบูชา ด้วย

ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า “โครงการนี้ส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพด้วยการเดิน-วิ่ง และรณรงค์ให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น โดยการเชื่อมโยงการมีกิจกรรมทางกายเข้ากับการปฏิบัติบูชาทางศาสนา หรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสติ คือ การรู้สึกตัวตลอดเวลา เพราะเราสามารถกำหนดสติได้ทุกอิริยาบถโดยใช้หลักการเดียวกับการเดินจงกรม ทั้งขณะนั่ง นอน หรือวิ่งก็เช่นกัน เมื่อเท้าก้าวลงพื้น ให้มีการกำหนดลมหายใจไปบริเวณดังกล่าว ไม่ต่างกับการนั่งสมาธิ นักวิ่งจะได้เรียนรู้ที่จะผสานกายกับจิตเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านการวิ่ง ตลอดจนการเคลื่อนไหวร่างกายในขณะที่จิตนิ่งสงบ มีการควบคุมการหายใจเข้าออกอย่างสม่ำเสมอไปพร้อมกับการเดินหรือวิ่ง โดยไม่วอกแวก หรือสนใจกับสิ่งเร้ารอบข้าง เมื่อวิ่งเหนื่อยหรือหิวน้ำก็พิจารณาให้รู้ว่าเหนื่อย หิว เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงนับเป็นการฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนลด ละ เลิก อบายมุข มาร่วมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง และการตั้งใจทำความดีในฐานะที่เป็นชาวพุทธ เนื่องในวันวิสาขบูชาอีกด้วย”

นายประสาร กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสที่วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกเวียนมาบรรจบอีกครั้ง โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 29 พ.ค. สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จึงร่วมกันจัดงานเดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ถือศีลห้า ลด ละ อบายมุข ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพกายและจิตที่ดี ผ่านการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดินวิ่ง โดยนำหลักการเรื่องการเจริญสติมาประยุกต์ใช้กับการวิ่งและการดำเนินชีวิต รวมถึงเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติบูชาทำความดีในวันวิสาขบูชาและในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ในวันที่ 28 พ.ค. มีการจัดค่ายเจริญสติเตรียมความพร้อมก่อนวิ่ง โดยมีกิจกรรม ได้แก่ เสวนาเรื่องการวิ่งสมาธิ การเจริญสติกับการวิ่ง รวมถึงฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับการวิ่งสมาธิให้กับนักวิ่งที่เข้าร่วมทุกคนได้รับชม และสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้ทุกคนได้ตรียมความพร้อมสำหรับการวิ่ง โดยปีที่ผ่านมามีประชาชนให้ความสนใจกิจกรรมนี้จำนวนมาก มีนักวิ่งจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 50,000 คน จาก 70 สนามทั่วประเทศ และสำคัญที่สุดคือ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่เห็นความสำคัญของวันวิสาขบูชา ในต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส มีการจัดงานวิ่งวิสาขะ พุทธบูชา เช่นกัน จึงหวังไว้ว่าในปีต่อๆ ไปจะมีการขยายงานวิ่งนี้ให้แพร่หลายในต่างแดนมากขึ้น” นายธัชพล กล่าว

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า “การเดินวิ่งเป็นวิธีการสร้างเสริมสุขภาพที่ครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต ปัญญา และสังคม เพราะการวิ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงไปพร้อมๆ กับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนรักสุขภาพซึ่งเป็นที่ทราบกันดี แท้จริงแล้วการวิ่งยังส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพจิต เพราะทำให้จิตใจแจ่มใสซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่เป็นพื้นฐานของสติปัญญา ดังนั้น หากเราใช้โอกาสในช่วงเวลาของการเดินวิ่งด้วยการเจริญสติภาวนา ยิ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสุขภาพองค์รวมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น”

ทั้งนี้ การศึกษาของมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก แห่งนอร์ธควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย พบว่า ทั้งการปฏิบัติสมาธิและการวิ่งต่างส่งผลต่อฮอร์โมนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ในเชิงบวก นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการฝึกสมาธินั้นส่งผลดีต่อร่างกายของนักวิ่ง โดยในการศึกษาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอูลเลวัล ประเทศนอร์เวย์ ระบุว่า การฝึกการผ่อนคลายด้วยการปฏิบัติสมาธิส่งผลต่อระดับกรดแลคติกในร่างกาย โดยนักวิ่งที่มีการฝึกปฏิบัติสมาธิเป็นเวลา 6 เดือน มีระดับกรดแลคติกในเลือดน้อยกว่านักวิ่งที่ไม่ได้ฝึกอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการวิ่งและการปฏิบัติสมาธิจะเป็นกิจกรรมที่มีรูปแบบแตกต่างกัน แต่แท้จิรงแล้วมิได้ขัดแย้งกัน ในปัจจุบันจึงมีความพยายามนำเชื่อมโยงการวิ่งและการปฏิบัติสมาธิเข้าด้วยกันให้มากขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าร่างกายและจิตใจต่างส่งผลซึ่งกันและกัน การฝึกฝนร่างกายอย่างเหมาะสมจึงเป็นการฝึกฝนจิตใจด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน การฝึกฝนจิตใจอย่างต่อเนื่องก็ส่งผลต่อความสมบูรณ์และการใช้ศักยภาพของร่างกายอย่างเต็มที่

ปัจจุบัน พุทธศาสนาหลายนิกาย ได้มีการนำการเดิน-วิ่งมาเป็นเครื่องมือในการฝึกสมาธิ อาทิ เมื่อ ค.ศ. 1585 พระสำนักเท็นไดของประเทศญี่ปุ่น มีการฝึกปฏิบัติในชื่อ “ไคโอเกียว” ซึ่งอาศัยการฝึกฝนร่างกายอย่างหนักเพื่อพัฒนาตนเองและบรรลุถึงความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งหนึ่งในการฝึกฝนคือ การเดิน-วิ่งบนภูเขาฮิเออิ เป็นเวลา 1,000 วัน ในช่วงเวลา 7 ปี (เฉลี่ยปีละ 100 – 200 วันต่อเนื่อง) โดยวิ่งวันละ 30 – 84 กิโลเมตร รวมระยะทางหลายหมื่นกิโลเมตรจนได้รับการขนานนามว่า “พระมาราธอน” พระที่เข้ารับการฝึกจะท่องมนต์ไปด้วย เพื่อทำสมาธิเพื่อเป็นการฝึกฝนร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน

สำหรับงาน “เดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ครั้งที่ 17” จะจัดขึ้นในวันที่ 29 พ.ค.2561 แบ่งเป็น 2 ระยะทาง คือ 5 และ 10 กม. (ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีเหรียญรางวัล ผู้เข้าเส้นชัยจะได้รับกระเป๋าเป็นที่ระลึก) มีเส้นทางวิ่งใน 3 สวนสาธารณะ ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนจตุจักร ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก “วิ่งสมาธิ Running: Living in the Moment” www.facebook.com/runninginthemoment