แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ส่งผลให้ปัญหาขยะเป็นปัญหาระดับสากล ทั่วโลกให้ความสำคัญ ขณะที่ในประเทศไทยเอง ก็หยิบยกปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดกิจกรรม Kick Off รณรงค์ลดขยะพลาสติกเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิถุนายน) ประจำปี 2561 เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติก รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่สอดคล้องกับประเด็นหลักในการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2561
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤติสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่นานาชาติให้ความสำคัญและถูกหยิบยกขึ้นมาหารือควบคู่กันในการประชุมระดับนานาชาติ จากหลักฐาน
ที่ปรากฏชัดมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ทั้งภาพแพขยะในมหาสมุทร ภาพผลกระทบของขยะพลาสติกที่มีต่อนกทะเล และสัตว์ทะเล อาทิ เต่าทะเล โลมา วาฬ และสัตว์ทะเลหายากอื่น ๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขยะพลาสติกกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งไม่ว่าในเมืองใหญ่หรือชุมชนในชนบท ถุงพลาสติกก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เพราะอำนวยความสะดวกสบายให้ทุกคน
เมื่อต้องไปจับจ่ายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าชุมชน รวมทั้งใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ประเทศไทยมีขยะถุงพลาสติกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12 % ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด (หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน) มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อนอาทิ ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว เป็นต้น (ประมาณ 80 % หรือประมาณ 1.2 ล้านตัน) โดยเฉพาะปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ปี 2559 จำนวน 27 ล้านตัน ทำให้มีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 3.2 ล้านตัน อีกทั้งข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic หรือ disposable plastic) เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำพลาสติก
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาพลาสติกและขยะพลาสติก ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เห็นชอบให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็น “วาระแห่งชาติ”ภาคเอกชนเองก็ให้ความสำคัญและตอบรับร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกเป็นอย่างดี เพื่อช่วยกันทำให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติก และการเกิดขยะพลาสติกลดน้อยลง ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก
โดยพวกเราทุกคนสามารถช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติกได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับจับจ่ายแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลากหลายวิธีในการที่จะจับจ่ายแบบไม่ใช้ถุงพลาสติก รวมทั้งการลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกในทุก ๆ โอกาสที่เป็นไปได้ อย่างการซื้อของน้อยชิ้นและสามารถถือกลับได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติก การเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อของ มาใช้ถุงผ้า กระเป๋าสะพาย หรือเป้ แทนการใช้ถุงพลาสติก การใส่ของหลายอย่างรวมกันในถุงพลาสติกใบเดียวกันเท่าที่จะทำได้เป็นการใช้ถุงพลาสติกเท่าที่จำเป็น อีกทั้งการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้แล้วใช้ซ้ำได้หลายๆ ครั้ง เช่น ตะกร้า ปิ่นโต กล่องข้าว หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ก็จะสามารถช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับในมุมของผู้ผลิตหรือผู้ค้าเองนั้น ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดขยะพลาสติกได้ โดยการที่เป็นตลาดที่ปลอดจากพลาสติกและโฟม เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์อื่นทดแทนโฟมให้กับลูกค้า และสนับสนุนการใช้ตะกร้า หรือถุงผ้ามาจ่ายตลาดของผู้ซื้อ การกำหนดนโยบายของตลาดก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการที่จะสร้างความยั่งยืนในการช่วยกันลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนตระหนักและมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2561 ตามประเด็นหลักในการรณรงค์ “Beat Plastic Pollution : If you can’t reuse it, refuse it” “รักษ์โลก เลิกพลาสติก” ที่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในการที่จะร่วมมือกันลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดกิจกรรม Kick Off รณรงค์ลดขยะพลาสติกเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิถุนายน) ประจำปี 2561 ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม 2561 ณ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ ตลาด อตก. เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติก เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่สอดคล้องกับประเด็นหลักในการรณรงค์ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมบทบาทภาคีความร่วมมือภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะจากถุงพลาสติก และเป็นช่องทางในการขยายผลการดำเนินงาน โดยจะมีการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติก รวมทั้งมีการประกาศเจตนารมย์ “ตลาดสดนำร่องลดพลาสติกและโฟม” ระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวาระเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2561 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมขอเชิญชวนประชาชนผู้ที่สนใจจะร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อกู้วิกฤติขยะพลาสติก เข้าร่วมกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2561 “Beat Plastic Pollution : If you can’t reuse it, refuse it” “รักษ์โลก เลิกพลาสติก”ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยจะมีการเสวนาสื่อสารทำความเข้าใจถึงวิกฤตการณ์ปัญหาขยะพลาสติก บทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกและการแก้ไขปัญหาร่วมกัน การมอบเกียรติบัตรสำหรับหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์หน่วยงานต้นแบบการลด คัดแยก ขยะมูลฝอย และของเสียอันตรายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2560 รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก และจากหน่วยงานอื่น ๆ