“โรงงานม่วนแฮง” ตามรอยโมเดล Happy Workplace  เพื่อความสุขของคนทำงาน

218

สำหรับคนทำงานแล้ว เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตพวกเขา คือการทำงาน พวกเขาต้องใช้ชีวิตในที่ทำงานราว 1 ใน 3 ของวัน หรือ ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น ที่ทำงานจึงเป็นส่วนสำคัญในชีวิต หากสถานที่นี้ สามารถสร้างผลงานไปพร้อมกับความสุขของคนทำงานได้ก็นับเป็นเรื่องดี แนวคิดของ Happy Workplace   จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างสถานที่ทำงานพร้อมกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านศักยภาพของบุคลากรและสุขภาวะที่ดีของคนทำงาน

องค์กรแห่งความสุข หรือ Happy Workplace เป็นแนวทางหนึ่งที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงาน  ล่าสุด ได้มีการเปิดตัวศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุข ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “โรงงานม่วนแฮง” โดยมีคนวัยแรงงานและผู้ประกอบการกว่า 200 คน เข้าร่วม ก่อนที่จะขยายผลในวงกว้างต่อไป

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เห็นความสำคัญของการมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ควบคู่ไปกับการสร้างความสุขให้แก่บุคลากรในองค์กร ให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นผลดีต่อการเติบโตขององค์กร ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้มีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ สสส. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “โรงงานม่วนแฮง” ได้แก่ บริษัท เจ.เอช. อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด โดยมีแนวคิดองค์กรแห่งความสุข Happy Workplace ไปเป็นนโยบายขององค์กร เพื่อเป็นต้นแบบให้องค์กรต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสุขภาวะต่อไป

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. โดยแผนสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร ได้ริเริ่มแนวคิดองค์กรแห่งความสุข Happy Workplace มา กว่า 14 ปี ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน นำแนวคิด Happy Workplace ไปเป็นนโยบายขององค์กร หรือจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร เพื่อพัฒนาคุณภาพของพนักงานทั้งทางทักษะอาชีพและสุขภาพ กว่า 10,000 แห่ง สสส. มุ่งหวังให้คนวัยทำงานของไทย กว่า 38 ล้านคน มีความสุขในการทำงาน ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสุขภาวะ ซึ่งจะส่งผลให้ความเครียด อุบัติเหตุ และโรคที่เกิดจากการทำงานลดลง โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มีสาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ อาทิ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีสุขภาวะดียิ่งขึ้น จึงเกิดการบูรณาการเป็นต้นแบบของศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุขไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร ในการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข

นางสาวกรพินธุ์ คชรัตน์ ผู้จัดการศูนย์องค์กรแห่งความสุข กล่าวว่า การเปิดศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุขภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดขึ้นเป็นที่แรก คือ บริษัท เจ.เอช. อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด โดยให้ความสำคัญเรื่องประโยชน์ขององค์กรแห่งความสุข เทคนิคการสร้างองค์กรแห่งความสุข การจัดกระบวนการทำงานเพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข สร้างองค์กรแห่งความสุขด้วยสติ (Mindfulness in Organization : MIO) รวมถึงส่งเสริมเรื่องการจัดการเงิน (Happy Money) สู่การขยายผลด้านศักยภาพและความพร้อมในองค์กร

ในระยะต่อไปจะเปิดศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุขภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ คือ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด ภาคตะวันออก คือ บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด ภาคกลาง คือ บริษัท แม่น้ำสแตนเลสไวร์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด และภาคใต้ คือ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน)