ดูกันชัดๆ จดหมายเปิดผนึก 8 ข้อต่อสาธารณะ จากเครือข่ายผู้ใช้จักรยาน

87

เครือข่ายผู้ใช้จักรยานฯ ปั่นรณรงค์ “วันจักรยานโลก” หนุนปฏิญญายูเอ็น บูรณาการจักรยานสู่ยุทธศาสตร์พัฒนาเมือง พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึก 8 ข้อ ต่อสาธารณะ ขอให้ปรับโครงสร้างพื้นฐานเอื้อต่อปั่นจักรยาน บังคับใช้กฎหมายเข้ม เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ตั้งหน่วยงานดูแลโดยตรง

มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย (Thailand Walking and Cycling Institute Foundation) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การประปานครนครหลวง (กปน.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และบริษัท โปร์ไบค์ จำกัด ตลอดจนภาคีเครือข่ายจักรยานอื่นๆกว่า 40 องค์กรเครือข่ายทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “วันจักรยานโลก” World Bicycle Day : (WBD) โดยมีการรวมตัวกันปั่นจักรยานรณรงค์ไปยังองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกแถลงการณ์ขอบคุณที่ได้ประกาศให้วันที่ 3 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันจักรยานโลก” ตามมติสมัชชา สมัยที่ 72 เรื่องกีฬาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 สนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ได้ถึง 12 ข้อ ใน 17 ข้อ

ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานในไทยครั้งแรก มีกลุ่มผู้ใช้จักรยานกลุ่มต่างๆ กว่า 1,000 คน เข้าร่วมกิจกรรมปั่นฯ ทั้งชุมชน คนใช้จักรยานในชีวิตประจาวันทั่วไป กลุ่มผู้ใช้จักรยานเพื่อการประกอบอาชีพ คนปั่นไปทางาน และนักจักรยาน โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร, รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการกองทุน สสส., ดร.กิตติพงษ์ โพธิมู รองประธานกรรมการแผนคณะที่ 5 สสส., รศ.ดร.ประทุม ม่วงมี คนไทยคนที่สองที่ปั่นจักรยานข้ามโลก และศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานด้วย

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า เครือข่ายผู้ใช้จักรยานในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยเกือบ 40 ชุมชมและชมรมจักรยาน รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ยูเอ็นเห็นความสำคัญต่อการส่งเสริมให้พลเมืองใช้จักรยาน ในครั้งนี้จึงเดินทางมาแสดงความขอบคุณและขอยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยเสนอมาตรการระยะสั้น 8 ข้อ คือ

  1. จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้จักรยานทุกประเภท โดยมุ่งเน้นที่ผู้ใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน
  2. สร้างความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จักรยาน ที่ถูกต้องและปฏิบัติได้จริงในบริบทของสังคมไทย
  3. จัดให้มีหน่วยงานภาครัฐระดับกรม ที่รับผิดชอบงานจักรยานโดยตรง ในกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เพื่อการศึกษา วิจัย เก็บรวบรวมข้อมูล และจัดให้มีระบบจักรยานและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับคนพิการ
  4. มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรและขนส่งอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานทุกประเภท
  5. ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการต่อเชื่อมระหว่างการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งแบบมวลชนและปัจเจกบุคคล
  6. ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด “ชุมชนจักรยาน” ที่ประชาชนในพื้นที่ของชุมชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก หรือญี่ปุ่น
  7. หลีกเลี่ยงการสร้างถนนขนาดใหญ่ ในเมือง เทศบาล และชุมชน เพื่อลดปัญหาทางสังคม และใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดนั้นมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ โดยเฉพาะการเดินและการใช้จักรยาน
  8. ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และประเทศไทยโดยรวม

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทย ในปี 2560 อยู่ที่ 72.9% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2% โดยกลุ่มประชากรที่มีการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกายมากที่สุดคือ กลุ่มประชากรวัยทำงาน ซึ่งสสส.ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2564 นี้คนไทย 80% จะมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยการผลักดันและกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชาชนในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้เข้ากับคนทุกช่วงวัยและตามกิจกรรมทางกายที่สนใจ ซึ่งจักรยานก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายมากขึ้น เพราะหากคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ได้มากถึง 10,000 รายต่อปี

นายไวบูลย์ ชาญเชี่ยว ผู้ช่วยผู้ว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศ กฟผ. กล่าวว่า ในส่วนของกฟผ. นั้น มีโครงการ EGAT ECO Plus ทำให้สำนักงานเป็นสำนักงานเขียว ลดการใช้พลังงานในมิติต่างๆ และริเริ่มทำโครงการส่งเสริมให้บุคลากรใช้จักรยานเพื่อเดินทางภายในสำนักงานโดยมีจักรยานปันกันใช้ไว้บริการ มีการต่อยอดแนวคิดส่งเสริให้พนักงานใช้จักรยานไปเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า เรือ เป็นต้น อีกทั้ง กฟผ. มีชมรมจักรยานที่จัดกิจกรรมอยู่เป็นประจำ ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว การออกกำลังกาย และการแข่งขัน

นายไวบูลย์ กล่าวต่อว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ UN ให้ความสำคัญต่อ “จักรยาน” เพราะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่ใช้จักรยาน โดยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยของคนใช้จักรยานเป็นสำคัญ เช่น จัดทำช่องทางสำหรับจักรยานไปเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะของเมือง เพื่อเพิ่มจำนวนคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น