ฟังเสียงคนคลองสาน ก้าวต่อไปของวิถีชุมชน เคียงโปรเจ็คยักษ์ริมฝั่งเจ้าพระยา

337

คลองสาน เป็นย่านการค้าที่สำคัญเมื่อครั้งสมัยอยุธยา คู่เคียงการดำเนินชีวิตของคนริมฝั่งเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน และในวันนี้ ย่านคลองสาน รวมทั้งริมชายฝั่งเจ้าพระยา ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่มีโครงการต่างๆ มากมายเข้ามาปักหลัก หนึ่งในนั้นคือ โปรเจ็คยักษ์อย่างโครงการไอคอนสยามที่จะเปิดในปลายปีนี้ ที่คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายระดับโลกที่ใครๆ ก็อยากมาเยือน 

ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่สร้างประวัติศาสตร์การลงทุนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย ทำให้ไอคอนสยามต้องถูกจับตามอง ท่ามกลางคำถามที่ว่า เมื่อโลกกำลังก้าวล้ำไปข้างหน้า วิถีชีวิตอันเป็นเสน่ห์ของไทย จะเดินเคียงคู่กันต่อไปได้อย่างไร ลองมาฟังความคิดเห็นของคนที่อยู่ในพื้นที่กันว่า พวกเขาคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง

มนูญ พุฒทอง

นายมนูญ พุฒทอง นายกสมาคมเรือไทย และเจ้าของร้านอาหารยกยอ มารีน่า กล่าวว่า เขาเกิดและเติบโตที่นี่  ทำธุรกิจริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาโดยตลอดเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีครั้งไหนที่ทำให้ย่านนี้คึกคักและเป็นที่สนใจ ได้มากเท่ากับการมาของไอคอนสยาม ราคาที่ดินก็ขยับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เจ้าของที่ดิน เจ้าของร้านค้า และธุรกิจต่างๆ ที่เห็นและรู้จักกันต่างมีการขยับตัว ปรับปรุงและพัฒนากิจการของตัวเอง เพื่อที่จะสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับไอคอนสยามและย่านคลองสานได้มากขึ้น

นายมนูญมองว่า การเดินทางทางเรือจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา เรือข้ามฝาก เรือท่องเที่ยว และเรือรับส่งต่างๆ จะคึกคักขึ้น และจะเชื่อมโยงไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจริมสองฝั่งเจ้าพระยาโดยรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และชุมชน ตั้งแต่ชุมชนดั้งเดิม ไปจนถึงย่านสร้างสรรค์ และสถานที่พักผ่อนและท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนเมือง ที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวาย มาหาความสงบร่มเย็นริมน้ำ

นุสรา บุญประเสริฐ

นางนุสรา บุญประเสริฐ ประชาสัมพันธ์ของชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ และเจ้าของร้านขายอาหารมุสลิมในพื้นที่ เล่าให้ฟังว่า มัสยิดสุวรรณภูมิตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามโรงแรมโอเรียลเต็ลและกรมศุลกากรเก่า เป็นชุมชนเก่าแก่และเป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ชาวมุสลิมที่นี่ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอยุธยา มีอาชีพค้าขาย เนื่องจากในอดีตฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของกรมศุลกากร มีพ่อค้าเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย จึงมีการตั้งถิ่นฐานในฝั่งตรงข้าม ซึ่งปัจจุบันก็คือซอยเจริญนคร 7 ซึ่งอยู่ใกล้กับไอคอนสยาม นอกจากนั้นชาวชุมชนยังมีอาชีพสอนศาสนา และรับจ้างดำน้ำซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชน โดยหลังจากที่ไอคอนสยามเริ่มก่อสร้าง ร้านค้าในชุมชนก็มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น เพราะจะมีพนักงานบริษัทหรือแม้แต่คนงานเข้ามาทานอาหารมุสลิมกันมากขึ้น นอกจากนั้น ไอคอนสยามยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำงานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ลูกหลานของเราไม่ทิ้งชุมชนไปอยู่ที่อื่น

นางนุสรา กล่าวถึงภารกิจสำคัญของชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของมัสยิดที่มีอายุกว่า 150 ปี ให้คงคุณค่า ความสวยงาม และเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าของไอคอนสยามที่ต้องการจะมาละหมาด หรือประกอบพิธีทางศาสนาที่มัสยิด รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะมาเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของย่านคลองสาน เพื่อเผยแพร่ชุมชนให้เป็นที่รู้จัก สร้างเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

บุญชู สังข์เสียงสูง

นายบุญชู สังข์เสียงสูง ประธานชุมชนวัดสุวรรณ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ เล่าให้ฟังว่า คนในชุมชนมองเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเศรษฐกิจในชุมชนที่น่าจะดีขึ้น และมากไปกว่านั้น การมาของไอคอนสยามยังได้ผูกมิตรและให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ โดยมีโครงการสร้างอาชีพและเปิดโอกาสให้ลูกหลานของคนในชุมชนได้ทำงานกับไอคอนสยาม นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนย่านคลองสานได้นำของดีของชุมชนเข้าไปขายในไอคอนสยาม ซึ่งจัดสรรพื้นที่ที่เรียกว่า “ธนบุรีไลฟ์” ไว้โดยเฉพาะ

นายบุญชู คาดการณ์ว่า การค้าขายบริเวณท่าเรือวัดสุวรรณ ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือสำคัญที่ข้ามไปโรงแรมโอเรียนเต็ล โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ชุมชนก็จะคึกคักขึ้น เพราะเป็นช่องทางให้เราได้เผยแพร่ของดีของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น หัตถกรรมหัวโขน จากบ้านโขนไทย ซึ่งเป็นแหล่งทำหัวโขนฝีมือประณีตตามแบบแผนช่างโบราณที่ได้รับการยอมรับว่าสวยงาม คุณภาพดี การประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวละคร ตุ๊กตานางรำ และหัวโขนขนาดจิ๋วสำหรับเป็นของที่ระลึก นอกจากนั้นภายในชุมชนยังมีมณฑปเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ที่ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่คนในชุมชนนับถือ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งใน Unseen ที่น้อยคนนักจะรู้จัก ทางชุมชนจึงมีแนวคิดที่จะทำให้เกิดรูปแบบ Walking Street เพื่อดึงดูดให้คนมาเยี่ยมชม

ปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์

อย่างไรก็ตาม อนาคตของย่านนี้คงจะต้องขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ด้วย ซึ่งนายปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์ธนบุรี มีความคิดเห็นว่า คลองสานเป็นย่านที่มีการสั่งสมของวัฒนธรรม ชุมชน และการค้าขายมาหลายร้อยปี โดยสเน่ห์อย่างหนึ่งของย่านนี้ก็คือความหลากหลาย ในซอยเดียวกันนั้นมีทั้งวัดของคนไทย ศาลเจ้า ของคนจีน และมัสยิดของคนมุสลิม อยู่ร่วมกันเป็นเพื่อนบ้านกันได้ นี่เป็นเอกลักษณ์ที่คนในชุมชนควรภาคภูมิใจและร่วมกันรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนเอาไว้ให้ได้ เพราะทุกวันนี้นักท่องเที่ยว  มีความชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้น และต้องการมาสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน

ไอคอนสยาม เปิดปลายปีนี้

นายปัญญภัทร ได้ฝากถึงไอคอนสยามว่าภารกิจสำคัญคือการปลุกจิตสำนึกของชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนระยะยาว อย่างเช่น โครงการมัคคุเทศก์น้อยที่ไอคอนสยามทำร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ดี แต่ทำอย่างไรที่เขาจะไม่หายไปเมื่อเขาโตขึ้น หรืออย่างร้านค้าต่างๆ จะต่อยอดอะไรได้บ้างหลังจากที่เราช่วยทำให้การค้าขายของเขาดีขึ้น หลายคนเชื่อว่าการมาของไอคอนสยามจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นซึ่งเป็นเรื่องดีและถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่เมื่อดีแล้ว จะต้องทำให้วิถีชุมชนยังคงอยู่ด้วย