กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาจับมือหารือแผนปฏิบัติการด้านป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ระยะ 3 ปี (2562-2564) ตามกรอบความร่วมมือฯ มอบหมายให้จังหวัดชายแดนคู่ขนาน เป็นจุดเชื่อมโยงการทำงานให้เกิดการขับเคลื่อนของทั้งสองประเทศ เผย 6 ปี ที่ผ่านมา ไทย-เมียนมาเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพในพื้นที่ชายแดนได้อย่างดี
นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย และ Dr. Thandar Lwin รองอธิบดีกรมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พร้อมคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองประเทศ ร่วมหารือแผนปฏิบัติการด้านป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564) ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการสร้างความร่วมมือด้านสุขภาพ เพื่อเสริมสร้าง อำนวยความสะดวกในการประสานงาน ความร่วมมือด้านสาธารณสุขบนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด 8 สาขา โดย 3 ใน 8 สาขา เป็นด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรค (Disease surveillance) 2.โรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยเฉพาะการระบาดของโรคข้ามพรมแดน (Communicable and emerging infectious diseases, especially, disease outbreak at cross-border) และ 3. การพัฒนาระบบบริการสำหรับประชากรย้ายถิ่น (Health service system development for cross border population)
แผนการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่ทวิภาคีหารือร่วมกัน ได้แก่ วัณโรค โรคเอดส์ มาลาเรีย ระบาดวิทยา โรคติดต่ออุบัติใหม่ การพัฒนาด่านช่องทางเข้าออกประเทศ และการป้องกัน ควบคุมโรคในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยให้จังหวัดชายแดนคู่ขนาน เป็นจุดเชื่อมโยงการทำงานของทั้งสองประเทศ คาดว่าแผนฯดังกล่าว จะทำให้เกิดการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรคระหว่างสองประเทศ (ไทย-เมียนมา) เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายแพทย์สมบัติ กล่าวอีกว่า แผนปฏิบัติการฯนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่มีความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย และกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนในเรื่องต่างๆ อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านระบาดวิทยา การแลกเปลี่ยนข้อมูล การส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งจะทำให้โรคและภัยสุขภาพในพื้นที่นั้นๆลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422