เผย “แบบประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน” ถูกกว่าวิธีเดิม 7 เท่า

88

โรคเบาหวานเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนมากมาย เนื่องจากเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลากรูปแบบ โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคไต ซึ่งหลายคนทราบดีว่า โรคนี้ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายในการรักษาในปริมาณสูง ดังนั้น การแพทย์ในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญต่อการคัดกรองโรคเบาหวาน และการคัดกรองภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ทั้งนี้ การพบโรคเบาหวานในระยะเริ่มแรก และให้การรักษาที่รวดเร็วจะลดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้

โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอหรืออินซูลินมีฤทธิ์น้อยกว่าที่ควร ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายสาเหตุ ได้แก่ ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะ การไม่ออกกำลังกาย หรือ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ให้ข้อมูลไว้ว่า สถานการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ. 2558 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวน 415 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583  โดยในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านราย

ไม่นานมานี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เปิดเวที HSRI’S SHOW : HSRI with Medical Innovation Research ภายใต้แนวคิด “25 ปี สวรส. สู่ระบบสุขภาพไทยในอนาคต” ในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย นำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัยต่างๆ ที่เป็นโยชน์ต่อการแพทย์ไทย รวมทั้ง “แบบประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานต้นทุนต่ำ”  

ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์

ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเครื่องมือคัดกรองไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิของรัฐและเอกชน ใน จ.ปทุมธานี กล่าวว่า

หนึ่งในแนวทางปฏิบัติสำหรับการประเมินภาวะแทรกซ้อนที่ไตของผู้ป่วยเบาหวาน คือ การติดตามค่าไมโครแอลบูมินนูเรีย ที่ปัจจุบันต้องมีการตรวจปัสสาวะทั้งหมด 3 ครั้ง ด้วยวิธีมาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,450 บาทต่อผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง และวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ (Rapid Test) ซึ่งใช้เป็นทางเลือกในการตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรีย มีค่าใช้จ่ายราว 280 บาท แต่ในทางปฏิบัติการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะในสถานบริการปฐมภูมิหลายแห่ง พบว่า ส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจไมโครแอลบูมินนูเรียเพียงปีละ 1 ครั้ง ตามที่กำหนดไว้ในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนอีก 2 ครั้ง ถ้าคนไข้จะตรวจต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจครบตามเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งการตรวจจากแถบจุ่มปัสสาวะมีความยุ่งยากสำหรับผู้ป่วยในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ

Background image created by Freepik

ผศ.ดร.สิริมา กล่าวต่อไปว่า ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่เรียกว่า “การตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง” เป็นวิธีทางสถิติ โดยการสร้างสมการประเมินค่าจากปัจจัยเสี่ยงในประวัติคนไข้จาก 9 ตัวแปร ประกอบด้วย เพศ ไขมันไม่ดี น้ำตาลสะสมในเลือด ความดันโลหิตตัวบน ค่าคีอะตินิน ปริมาณไนโตรเจนในกระแสเลือด ระยะเวลาป่วยเบาหวาน ประวัติเบาหวานของบิดาและมารดา โดยเครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 1,211 ราย ผลการศึกษา พบว่า วิธีการตรวจด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 40 บาทต่อราย ซึ่งมีราคาถูกกว่าการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ ประมาณ 7 เท่า และผลด้านความสามารถในการคัดกรองสูงกว่าการตรวจด้วยวิธีใช้แถบจุ่มปัสสาวะ

เรื่องของโรคภัย รู้ไว้ก่อนย่อมจะดีกว่า การตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจึงเป็นเรื่องจำเป็น พร้อมด้วยการป้องกันตัวเองจากโรคภัย ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ การออกกำลังกาย และทำจิตใจให้สดใสอยู่เสมอ