พม. เร่งพัฒนาอาสาสมัคร ช่วยเหลือหญิงไทยในต่างแดน

175

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2561 เวลา 15.00 น. ณ ห้องชมนภา โรงแรม เอสดี อเวนิว ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร  พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครให้คำปรึกษาแก่หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ”  พร้อมทั้งมอบนโยบาย “พม. กับภารกิจเพื่อคนไทย” โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 6 – 10 สิงหาคม 2561 เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์ระหว่างเครือข่ายอาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศ และเสริมสร้างทักษะการให้คำปรึกษาแก่เครือข่ายอาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศ จาก อเมริกา ยุโรป และเอเชีย จำนวน 15 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เบลเยียม อิตาลี และไทย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 70 คน

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากเดินทางไปทั่วโลก ด้วยหลายวัตถุประสงค์  ทั้งการหางานทำ ศึกษาต่อ หรือสร้างครอบครัว จากสถิติปัจจุบันพบว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในภูมิภาคอเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และแปซิฟิกใต้ จำนวน 1,138,878 คน (1.13 ล้านคน) รัฐบาลไทยมีความห่วงใยต่อประชากรไทยทุกคน แม้ว่าจะไม่ได้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยก็ตาม โดยนายกรัฐมนตรีให้ทุกส่วนราชการส่งเสริม สนับสนุนให้มวลชนคนไทยที่อยู่อาศัยในต่างประเทศเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกัน ทำประโยชน์ สร้างชื่อเสียงให้เกิดต่อประเทศชาติ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยในต่างประเทศรวมตัวช่วยเหลือกัน รวมถึงการสนับสนุนให้หญิงไทยทำงานเพื่อสังคม รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความรัก ความสามัคคีของคนไทยและสตรีไทยเสมือนเป็นทูตของประเทศไทย สร้างความประทับใจให้แก่ชาวต่างชาติ

พล.อ.อนันตพร กล่าวต่ออีกว่า พม. มีภารกิจในการสร้างเสริมเครือข่ายจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมพัฒนาสังคมเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยดำเนินการใน 2 มิติ คือ  มิติการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ และมิติการส่งเสริมและช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารช่วยอำนวยความสะดวก และให้บริการคนไทยในต่างประเทศในยุค Thailand 4.0 เช่น เว็ปไซต์หญิงไทย และ แอพพลิเคชั่นหญิงไทย เป็นต้น

ด้าน นายเลิศปัญญา  กล่าวว่า ประชากรของประเทศไทยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นสตรี การพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบทบาทของสตรีจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ การที่ภาครัฐสามารถส่งเสริมให้สตรีไทยมีศักยภาพมีความเข้มแข็งสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้จะเกิดประโยชน์กับประเทศในหลายมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ตลอดจนแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือหญิงไทยในต่างประเทศอีกด้วย