เริงร่าภาษาถิ่น ส่งยิ้มท่า “หมากจองบาน” ณ บ้านแก้งเรือง

559

ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและภาษาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ พบเจอเมื่อไหร่ก็เกิดความสนุกที่จะได้เรียนรู้ หากเราเคยรู้สึกเอ็นดูต่อฝรั่งที่พยายามพูดภาษาไทย คนต่างถิ่นต่างภาคในบ้านเราก็คงคิดเช่นนั้น เพราะในภาษาไทยเอง ก็มีภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มาเยือนแดนอีสาน ได้ฟังและพยายามสนทนาภาษาถิ่น  รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็เข้าใจในบริบทและยิ้มกับมันได้แทบทุกครั้ง

บ่อยครั้งที่เราได้เดินทางมาเยือนอุบลราชธานี รับรู้ความเคลื่อนไหวของความเป็นเมืองใหญ่ทางอีสานใต้ ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เข้มแข็งด้วยศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่ ชาวอุบลก็ยังคงรากเหง้าของชาวอีสานไว้อย่างน่าชื่นชม

วันนี้เราเดินทางมายังอุบลราชธานีอีกครั้ง เพราะทราบว่ามีเรื่องราวดีๆ ในมุมเล็กๆ ของการท่องเที่ยว ที่ซึ่งไม่ใช่ทั้งเมืองหลักหรือเมืองรอง แต่ก็คือแง่มุมที่งดงามและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับเราได้

จะว่าไป เมืองหลัก เมืองรอง หรือเมืองไหนๆ หากเป็นเมืองไทย เราเองก็อยากรู้ อยากไปให้ถึง เช่นเดียวกับที่นี่ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้จัก

เราเดินทางออกจากกรุงเทพฯกันตั้งแต่เช้าตรู่สู่เมืองอุบล แน่นอนว่า การได้ตระเวนชิมอาหารเช้าในเขตเมือง เป็นเรื่องที่เราไม่ยอมพลาด เพราะเป็นอีกจังหวัดที่คึกคักด้วยบรรยากาศการกินตั้งแต่เช้าจดเย็น อิ่มกันให้หายคิดถึง ก่อนที่จะเดินทางต่อสู่ อ.นาจะหลวย ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปกว่า 100 กิโลเมตร

นายมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี

ราวชั่วโมงเศษๆ เราก็มาถึงนาจะหลวย แรกๆ ก็เป็นชื่อที่เรียกยาก ถามกันไปถามกันมาว่า ตกลง “จะหลวย” หรือ “จะรวย” แล้ว “จะหรวย” หรือ “จะหลวย” เรียกสลับสับสนกันไปอยู่นาน คงเหมือนที่มาของชื่อนั่นแหละ

เพราะคำว่า “จะหลวย” เพี้ยนมาจากคำว่า “จะรอย”  “จะรวย” หรือ “จะโรย” ในภาษาส่วย ซึ่งแปลว่า พังพอน ในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวบ้านอพยพถิ่นฐานมาตั้งรกราก ก็ได้ทำการปลูกข้าวในพื้นที่นา ซึ่งมีเจ้าพังพอนหรือจะรวยเป็นจำนวนมาก จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “นาจะรวย” แต่เนื่องจากเป็นภาษาส่วย ชาวบ้านจึงออกเสียงต่อๆ มาเป็น “นาจะหลวย”

จากตัวอำเภอนาจะหลวย เราเดินทางต่อเข้าไปยังหมู่บ้านเล็กๆ  “บ้านแก้งเรือง”  ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางสายอารยธรรมอีสานใต้ ของโครงการ ‘หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว 8 เส้นทาง 10 หมู่บ้าน’ จังหวัดอุบลราชธานี

เราปักหลักกันที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพลาญกงเกวียน อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ภายใต้ความครึ้มของพันธุ์ไม้ในเขตอุทยาน จนสัมผัสได้ถึงความชุ่มเย็นตลอดเส้นทางที่เดินทางเข้ามา

กลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันอยู่ที่นั่น เพราะวันนี้เป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะออกมาบอกกับเราว่า ที่บ้านแก้งเรืองนั้นมีอะไรดีๆ อยู่มากแค่ไหน โดยเฉพาะสินค้า OTOP อันเป็นน้ำพักน้ำแรงและภูมิปัญญาของคนในหมู่บ้าน เช่น  การจักสานไม้ไผ่ ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และมีการพัฒนารูปแบบต่อๆ กันมาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

ไม่ว่าจะเป็น กระติ๊บข้าว หวดนึ่งข้าวเหนียว กระด้ง พัด รวมไปถึงเสื่อผือ เสื่อกก ที่มาจากการนำต้นผือและต้นกกมาแปรสภาพเป็นเส้น ย้อมสี แล้วนำไปสานเป็นรูปทรงต่างๆ ได้แก่ เสื่อ พวงกุญแจเส้นกก เช่นเดียวกับเสื่อเตยที่ทำจากใบเตย หรือเสื่อจากเส้นหญ้า เป็นต้น

อีกสินค้าที่เราเห็นกันจนชินตา แต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร พูดแบบภาษาที่พอเข้าใจกันได้คือหมอนแต่งงาน ลักษณะสีทองและสีเงินกลมๆ จนได้ทราบว่ามีชื่อเรียกว่า “หมอนสม็อก” (สม็อก เป็นชื่อของงานฝีมือชนิดหนึ่ง ที่ใช้เข็มเย็บผ้าสะกิดให้เกิดเป็นลวดลายที่พองฟู) เรียกอีกชื่อว่า “หมอนฟักทอง”  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานของชาวบ้านแก้งเรือง

ด้วยสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบเชิงเทือกเขาพนมดงรัก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวจังหวัด ชาวบ้านแก้งเรืองส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ และค้าขาย ผลผลิตทางการเกษตรของบ้านแก้งเรืองกลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็น กล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า มะพร้าว และหน่อไม้ โดยเฉพาะหน่อไม้ส้ม หรือหน่อไม้ดอง ที่มาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในการคิดวิธีถนอมอาหาร จนเกิดการรวมกลุ่มแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ เช่น น้ำสำรอง จากลูกสำรอง เป็นต้น

พี่ป้าน้าอา เชิญชวนให้เราดื่มน้ำสำรองตั้งแต่แรกมาถึง แถมยังมีเมนูพิเศษ เป็นแตงไทยน้ำกะทิใส่ลูกสำรอง รสชาติหวานชื่นใจ นอกนั้นยังมีการนำลูกสำรองมาแปรรูปเป็นวุ้นลูกสำรองอีกด้วย

เหตุที่มีลูกสำรองไว้สำรองรับแขกกันมากมายขนาดนี้ ก็เพราะที่นี่เป็นดินแดนที่มีต้นสำรองขึ้นอยู่มาก เป็นต้นไม้ที่ขึ้นโดยธรรมชาติ แถมยังหายาก ที่นึกได้ตอนนี้ก็แถบจันทบุรีซึ่งมีสำรองอยู่มาก ส่วนทางใต้ก็มีสำรองขึ้นอยู่หลายแห่ง

แต่ละพื้นที่ก็เรียกชื่อแตกต่างกันไป วันนี้เราได้รู้จักลูกสำรองในนาม “หมากจอง” จากต้นจอง ซึ่งเป็นชื่อเรียกลูกและต้นสำรองของชาวอุบลราชธานี ขณะที่ภาคอีสานโดยทั่วไป ก็จะเรียกว่า “บักจอง” หรือหมากจอง ภาคใต้เรียกว่า “ท้ายเภา” ส่วนที่รู้จักกันโดยทั่วไป นอกจากชื่อ “สำรอง” แล้ว  จะรู้จักกันในนาม “พุงทะลาย” ด้วยสรรพคุณที่ช่วยล้างไขมันในเลือด พร้อมอีกสารพัดประโยชน์

ชื่อของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อาจจะไม่คุ้นหูของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปมากนัก แต่สำหรับคนในพื้นที่แล้ว ที่นี่คือแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของพวกเขา เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งป่าไม้และน้ำตกน้อยใหญ่ โดยมีไฮไลท์อยู่ที่  น้ำตกห้วยหลวง หรือเดิมทีชาวบ้านเรียกกันว่า น้ำตกปู่เตว  ซึ่งเดินทางไปไม่ไกล แถมมีความสะดวกสบาย

เพราะเมื่อไปถึงตัวน้ำตก เราใช้เวลาเดินเข้าไปในป่าเพียงไม่กี่ก้าวก็มาถึงจุดชมวิว ที่มองเห็นตัวน้ำตกห้วยหลวงได้จากด้านบน ท่ามกลางความครึ้มของพันธุ์ไม้ หน้าฝนเป็นช่วงอิ่มตัวของน้ำตก เราจึงมองเห็นพลังแห่งสายน้ำที่ไหลลงจากหน้าผาได้อย่างเต็มตา ใครที่อยากลงไปสัมผัสความงามเบื้องล่าง ก็มีบันไดให้ไต่กันลงไปด้วย

บนอุทยานภูจองนาจอย เป็นสถานที่ที่มีต้นสำรองขึ้นอยู่มาก จึงเป็นที่มาของ “ภูจอง” ซึ่งมาจาก ภูเขาที่มีต้นสำรอง หรือ “ต้นจอง” นั่นเอง ส่วนนาจอย บอกเล่ากันว่ามาจากคำว่า “นายอย” มาจาก “น้ำย้อย” ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งต้นน้ำลำธารนั่นเอง

นายมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี จัดงานเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว 8 เส้นทาง 10 หมู่บ้าน ที่บ้านแก้งเรือง อ.นาจะหลวย โดยมี นายธนสาร เจริญสุข นายอำเภอนาจะหลวย เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านให้การต้อนรับ

แค่หมู่บ้านเล็กๆ เพียงแห่งเดียว ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของภาษา เป็นเรื่องราวที่น่าค้นหายังไม่จบสิ้น เช่นเดียวกับแม่มุมเล็กๆ ของแต่ละหมู่บ้านในเมืองไทย หนึ่งความเข้มแข็งของชุมชน ที่รวมเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าเอกลักษณ์วิถีไทยยังคงเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่ไม่เคยซ้ำ

และหากจะนึกถึงเสน่ห์ของเมืองไทยในสายตาชาวโลก “Smile” หรือรอยยิ้ม ยังคงประทับและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คน เช่นเดียวกับ “บ้านแก้งเรือง”  ซึ่งมีรอยยิ้มจากภาษาของเขาเอง

รอยยิ้มที่มาพร้อมท่าทางที่เริงร่า พวกเขาเรียกรอยยิ้มนี้ว่า รอยยิ้มแห่ง “หมากจองบาน”

(สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาจะหลวย จ.อุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-307061)