ก.อุตสาหกรรม-SCG ผุด 3 หมู่บ้าน CIV จ.ลำปาง

162

กระทรวงอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้า หมู่บ้านอุตสาหรรมสร้างสรรค์ CIV กว่า 20 ชุมชน เดินหน้าต่อยอดไอเดียสำเร็จ  พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ ดูดนักท่องเที่ยว โกยรายได้เพิ่ม  พร้อมขยายผล ดึง SCG บิ๊กบาร์เธอร์ ปั้นหมู่บ้านCIV เกิดใหม่  3 ชุมชน บ้านแม่แจ๋ม-บ้านแม่เมาะ-บ้านแป้นใต้ ต้นแบบความร่วมมือรัฐและเอกชน เล็งขยายพัฒนาชุมชนในพื้นที่ฐานผลิตปูน ทั้งสระบุรี  นครศรีธรรมราช

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเข้าไปพัฒนาชุมชนให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ว่าขณะนี้มีชุมชนที่สามารถพัฒนาและต่อยอดได้ด้วยตนเอง และเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล กว่า 20 ชุมชน จาก 163 ชุมชนทั่วประเทศ โดยชี้วัดความสำเร็จได้จากแนวทางการพัฒนาของชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของความคิด และความร่วมมือการพัฒนาเพื่อต่อยอดเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์และการบริการด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดช่องทางการตลาดใหม่ๆ จนทำให้ชุมชนมีฐานรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังขยายความร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้าน CIV ร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบพี่เลี้ยง หรือ บิ๊ก บาร์เธอร์  (BIG BROTHER) โดยล่าสุด กสอ.ได้มีการลงนามความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาตามมาตรการยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน (Local Economy ) กับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด หรือ SCG เพื่อขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยวางเป้าหมายในการเข้าไปพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง จำนวน 3 ชุมชน ประกอบด้วย 1.ชุมชนบ้านแป้นใต้ ต.บ้านเสา อ.แจ้ห่ม 2.ชุมชนบ้านแม่แจ๋ม ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน 3.ชุมชนหมู่บ้านเมาะหลวง ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะจ.ลำปาง ซึ่งแต่ละชุมชนมีความพร้อมทั้งทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ ด้านการท่องเที่ยว วิถีชุมชนที่ยังคงอัตลักษณ์และสามารถต่อยอดโดยเฉพาะเรื่องของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำไปเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐ เพื่อขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ

สำหรับศักยภาพของแต่ละชุมชนที่เป็นจุดเด่นและสามารถพัฒนาให้เป็นหมู่บ้าน CIV ได้ ประกอบด้วย ชุมชนบ้านแป้นใต้ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวกล้องหอมมะลิ และมะนาวที่ได้มีการแปรรูปเป็นมะนาวผงบรรจุซอง พร้อมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ และ การขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆ

ชุมชนบ้านแม่แจ๋ม เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์และการบริการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น กาแฟ แม็คคาเดเมียร์ ตลอดจนการทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมชมบรรยากาศ พร้อมชิมกาแฟที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาเป็นโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในอนาคต

ชุมชนบ้านเมาะหลวง  เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านวัฒนธรรมและมีความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่สามารถต่อยอดจากที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิม โดยการจัดทำที่พักในรูปแบบเป็นโฮมสเตย์เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยชุมชนแห่งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามความร่วมมือกับ SCG ใครั้งนี้ ยังได้วางแผนที่จะขยายหมู่บ้าน CIV ไปยังพื้นที่ที่มีฐานการผลิตเพิ่มอีก จำนวน 2 จังหวัด ใน  3 ชุมชน แบ่งเป็น

จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านถ้ำใหญ่ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง  และชุมชนบ้านวังหอน ต.วังอ่าง อ.ชะอวด

จังหวัดสระบุรี จำนวน 1 ชุมชน ได้แก่  ชุมชนบ้านต้นตาล ต.ต้นตาล อ.เสาไห้

 

“การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ลำปาง ถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันยกระดับชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ภายใต้นโยบาย CIV ซึ่งจะทำให้มีการขยายขอบเขตของความร่วมมือ  ในรูปแบบดังกล่าวในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งทาง SCG มีความพร้อม และศักยภาพทางด้านองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว ซึ่ง SCG เป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการพี่เลี้ยงน้อง หรือ BIG Brother ของกระทรวงอุตสาหกรรม”  นายสมชาย กล่าว

นายศานิต เกษสุวรรณ บอร์ด บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ –ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด  กล่าวว่า บริษัทSCG มีเป้าหมายที่จะเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ที่มีฐานผลิตและในจังหวัดลำปางนี้ก็มีจำนวน 3 ชุมชนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการต่อยอดผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าเกษตรของชุมชน และการเพิ่มช่องทางการตลาด รวมทั้งการพัฒนาชุมชนลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เพื่อลดต้นด้านการผลิตและเป็นยอมรับของกลุ่มผู้บริโภค

นางวริษา จิตใหญ่ ผู้ใหญ่บ้าน ประธานวิสาหกิจชุมชนโรงสีชุมชนบ้านแป้นใต้ หนึ่งในชุมชนที่มีความพร้อมในการเข้าสู่การพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV กล่าวว่า โครงการหมู่บ้าน CIV ถือเป็นโครงการที่เข้ามายกระดับเศรษฐกิจของชุมชนให้มากขึ้น เพราะมีการพัฒนาในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชเกษตรที่หมู่บ้านเพาะปลูกให้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้คาดหวังว่าชุมชนจะสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ก็จะส่งผลให้ลูกหลานได้กลับมาประกอบอาชีพภายในชุมชนต่อไป